(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปี 55 โตแค่ 5% จาก 7% แต่จีดีพียังโตได้ 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2012 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกในปีนี้ลงเหลือ 5% จากล่าสุดคาดไว้ราว 7% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้ไว้ที่ 5% เพราะเชื่อว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนยังรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้ดี รัฐบาลก็รักษาบทบาทการประคองเศรษฐกิจไว้ได้ดี เช่น การชะลอการปรับราคาพลังงาน การเข้ามาดูแลราคาสินค้าเกษตร พร้อมกันนั้นยังได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจาก 3.5% เหลือ 3.3%

ทั้งนี้ ประเมินว่าจีดีพีของไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะขยายตัวราว 8% จากระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเทียบกับครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.2% โดยไตรมาส 3/55 คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.3% เทียบกับไตรมาส 2/55 และไตรมาส 4/55 จะเติบโตสูงถึง 12.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่จะหดตัวลง 2.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/55

"จีดีพีเทียบไตรมาสต่อไตรมาสอาจมีบางช่วงปรับลดลง จากการส่งออกอ่อนตัวแรง และการสะสมสต๊อกลดลงในภาวะที่ประเทศคู่ค้ายังเศรษฐกิจซบเซาและไม่แน่นอน"ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ

ส่วนในปี 56 ประมาณการจีดีพีเติบโต 5% จากช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้ายังมีความเสี่ยง แต่ในเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักน่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวของการส่งออกจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยยังรักษาอัตราการเติบโตที่ 5% ไว้ได้ ขณะที่ในประเทศก็ยังได้รับปัจจัยบวกกจากการเติบโตของการบริโภคและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แม้อัตราการขยายตัวอาจชะลอลงเล็กน้อยจากฐานที่สูงในปีนี้

ด้านเสถียรภาพเศรษกิจของไทยยังไม่น่ากังวล แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยปี 56 คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3.8% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.8% ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลฯ 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้ขาดดุลฯ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงเกินดุล 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นห่วงอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ได้เข้าสู่ระดับอันตรายก็ตาม

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากจะทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 5% นั้น ในช่วงที่เหลือของปีจะต้องมีมูลค่าการส่งออกที่ 1.8-1.9 หมื่นล้านเหรีญสหรัฐ/เดือน และคาดว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวในต้นปี 56 เนื่องจากแรงส่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านมายังมีความต้องการสินค้า รวมถึงการที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ทยอยฟื้นตัว น่าจะเป็นแรงหนุนต่ออุปสงค์สินค้าต่างๆ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จึงประเมินว่าในปีหน้าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ในอัตรา 14% ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 15% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ มองว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ถึง 0.1% เนื่องจากจังหวัดที่น้ำท่วมถือเป็นการท่วมตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามประเมินสถานการณ์น้ำท่วมคงไม่เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเหมือนปีก่อน

ด้านนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การใช้ QE3 ของสหรัฐ จะมีผลต่อราคาสินทรัพย์โลกและสินทรัพย์ไทยให้ผันผวนสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่ยั่งยืน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นจากผลของเงินทุนไหลเข้าและมีความผันผวนสูง โดยประเมินว่าการใช้ QE3 ทุก 5 แสนดอลลาร์ จะมีผลต่อเงินบาท upside 3% แต่ตราบใดที่เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางสอดคล้องกับค่าเงินบาทภูมิภาคจะช่วยคลายแรงกดดันต่อความสามารถการแข่งของของสินค้าส่งออกได้ระดับหนึ่ง และเชื่อว่าแม้จะมี QE3 ที่กระทบต่อค่าเงินบาท แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเครื่องมือที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษ

ทั้งนี้ ประเมินว่า เงินบาทในสิ้นปี 55 จะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 29.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนปี 56 ประเมินว่ามีโอกาสแข็งค่าขึ้นอีก จาก QE3 และเศรษฐกิจยุโรปที่ยังทรงตัว

นอกจากนี้ QE3 มีผลต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของไทยในกรอบจำกัด รวมถึงผลต่อธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ อยู่ในกรอบจำกัดเช่นกัน โดยคาดว่า ธปท.จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% ต่อไปในช่วงครึ่งแรกปี 56 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแรงกดดันมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ส่วนอัตราดอกเบี้ยในตลาดขึ้นอยู่กับความต้องการสภาพคล่องในระบบที่ยังมีต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ