ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า เหตุวิตกศก.โลกหนุนนักลงทุนถือดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Friday September 21, 2012 07:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 ก.ย.) เนื่องจากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยูโรโซน และจีน ได้กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ถือครองดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ค่าเงินยูโรดิ่งลง 0.60% แตะที่ 1.2969 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.3047 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ขยับลง 0.02% แตะที่ 1.6217 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6220 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.59% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9326 ฟรังค์ จากระดับ 0.9271 ฟรังค์ แต่อ่อนแรงลง 0.13% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 78.260 เยน จากระดับ 78.360 เยน

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.33% แตะที่ 1.0439 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0474 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดีดตัวขึ้น 0.33% แตะที่ 0.8285 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8258 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนเข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในยามที่เกิดกระแสความวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. ลดลง 3,000 ราย มาอยู่ที่ 382,000 ราย ซึ่งมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการในสัปดาห์ที่แล้วจะอยู่ที่ 375,000 ราย

ขณะที่เอชเอสบีซี โฮลดิงส์เผย ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นแตะ 47.8 จากข้อมูลขั้นสุดท้ายที่ 47.6 ในเดือนส.ค. แต่ตัวเลขยังคงต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตของจีนในเดือนก.ย.หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

ส่วนค่าเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรป หลังจากมาร์กิตเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซิ้อ (PMI) รวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 45.9 ในเดือนก.ย. จาก 46.3 ในเดือนส.ค.

นอกจากนี้ ธนาคารกลางเดนมาร์กปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ระดับ 0.3% จากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.2% เนื่องจากภาคเอกชนและผู้บริโภคลดการใช้จ่าย อันเนื่องมาจากผลกระทบในด้านลบของวิกฤตการณ์ทางการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ