นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.เร่งติดตามการเก็งกำไรในสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์หลังจากคาดว่าจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าจากมาตรการ QE3 ซึ่งทำให้ราคาสินทรัพย์เร่งตัวขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่พบการเก็งกำไรที่ผิดปกติ และ ธปท.ก็มีมาตรการพร้อมจะเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในประเทศทขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงยังเห็นการเข้ามาลงทุนซื้อสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์อยู่ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะยังไม่ถึงขั้นมีการขายใบจองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
"ยืนวันว่าเศรษฐกิจไม่ได้ซบเซา ถ้าใช้อัตราดอกเบี้ยกระตุ้นก็ไม่เป็นไร แต่อาจทำให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น ช่วงนี้ ธปท.ติดตามแต่คงไม่อะไรออกมาเป็นพิเศษ เพราะยังไม่พบการเก็งกำไร"นางสุชาดา กล่าว
นางสุชาดา กล่าวว่า ตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประกาศใช้มาตรการ QE3 ทำให้ค่าเงินบาทในวันที่ 19 ก.ย.แข็งค่าไปราว 0.5% แต่วันที่ 20 ก.ย.ก็อ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว โดยอัตราการแข็งค่าของเงินบาทถือว่าน้อยสุดของกลุ่มค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เงินที่ไหลเข้ามาจะลงทุนในตลาดพันธบัตร
อย่างไรก็ตาม มาตรการ QE3 ไม่มีผลกระทบต่อเงินทุนไหลเข้าไทยมากเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งที่สหรัฐประกาศใช้มาตรการ QE1 และ QE2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจภูมิภาคชะลอตัวด้วย ส่วนไทยยังมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้นำเข้า ขณะที่ผู้ส่งออกไม่ได้ซื้อฟอร์เวิร์ดเพิ่มเติม เพราะยอดส่งสินค้าลดลง ทำให้ในระยะนี้ผู้ส่งออกไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง นอกจากนั้น ตลาดฯ รับรู้มาตรการดังกล่าวไปมากแล้ว เมื่อมีการออกมาตรการมาจริง จึงไม่มีผลกระทบมากนัก
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังเกิดจากการที่นักลงทุนไทยออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ กิจการด้านเกษตร อุปโภคบริโภค ค้าปลีกในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากสินทรัพย์ในต่างประเทศมีราคาถูกลง ซึ่ง ธปท.มองว่าเป็นจังหวะที่ดีที่เข้าไปซื้อแบรนด์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรป การที่มีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศช่วยสร้างให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความสมดุล และทำให้ค่าเงินบาทมีความสมดุลด้วย
นางสุชาดา กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจในปี 56 วิกฤตเศรษฐกิจต่างประเทศดูท่าทางจะยืดเยื้อยาวนาน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐคงยังไม่ฟื้นตัวไปจนถึงปี 58 และยังมีปัญหาเรื่องนโยบายการเงิน
"สหรัฐฯ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับ fisical คือจะหาทางออกยังไง เลยใช้ QE3 เข้ามาช่วย เพราะนโยบายการเงินและการคลังเขาไม่ offset กัน นโยบายการคลังมีผลต่อจีดีพีทันที นโยบายการเงินมีผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างช้ามาก ทางประธานเฟดกลัวเรื่อง fisical เลยออก QE3 ออกมาก่อน แต่ยังต้องรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะ fisical มีผลต่อจีดีพีมากถึง 3-4% ของจีดีพี และตอนนี้มีเงินช่วยเหลือการว่างงานลดลง จากเดิมที่ขยายจาก 52 สัปดาห์เป็น 92 สัปดาห์ตอนนี้ลดลงเหลือ 20 สัปดาห์ ตรงนี้ทำให้เงินหายไปเยอะถ้าเลิกมาตรการนี้"นางสุชาดา กล่าว
ขณะที่ยุโรป ตอนนี้เหมือนจะมีทางออก แต่ประเทศที่มีปัญหาก็ยังต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัด และหลายประเทศประชาชนไม่ยินยอมให้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่จะเข้ารับการช่วยเหลือ ทำให้การแก้ไขปัญหามีความล่าช้าไป
สำหรับประเทศไทย การบริโภคและการลงทุนในประเทศปีนี้ขยายตัวสูง แต่คาดว่าในปี 56 อาจจะแผ่วลง ประกอบกับ โครงการเงินกู้ผ่อนปรนเพื่อให้ความช่วยเหลือกับภาคธุรกิจหมดโครงการไปแล้ว และด้านการลงทุนขยายตัวในอัตราชะลอลง แต่ปัจจัยหลักที่จะมาช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 56 คือรัฐบาล โดยหากเกิดการลงทุนจริงในโครงการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ก็จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในประเทศ เพราะฉะนั้นปัจจัยเสี่ยงของไทยก็จะเหลือเฉพาะภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศเท่านั้น
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะไม่มีแรงกดดันทำให้เงิรนเฟ้อต้องเร่งตัวขึ้น เว้นแต่ราคาน้ำมันดิบโลกที่เร่งตัวขึ้น และในช่วงนี้ราคาอาหารสัตว์แพงขึ้นอาจทำให้ราคาปศุสัตว์สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย
"ไม่คิดว่าปัจจัยเงินเฟ้อน่ากังวลในปี 56 แต่กังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อไทยมากกว่า แต่กังวลการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และอาจนำไปใช้ในโครงการที่ไม่มีความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะไม่ได้ประสิทธิภาพ"นางสุชาดา กล่าว