ผู้นำเยอรมนี-ฝรั่งเศสหารือกำกับดูแลภาคธนาคาร, เน้นย้ำเอกภาพของยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Sunday September 23, 2012 08:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคลของเยอรมนีและประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งศส เรียกร้องให้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างสองประเทศ และเน้นย้ำความเป็นเอกภาพของยุโรปในการหาทางออกสำหรับวิกฤตหนี้ของภูมิภาค

ผู้นำทั้งสองได้พบปะกันเมื่อวันเสาร์ในวาระครบรอบ 50 ปีการแสดงสุนทรพจน์ครั้งสำคัญของนายพลชาร์ลส์ เดอ โกล อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในการประนีประนอมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในระหว่างการพบปะกันดังกล่าว ผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสได้หารือเกี่ยวกับการควบรวมกิจการที่มีอาจจะมีขึ้นระหว่างบริษัท EADS ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินแอร์บัส และบริษัท BAE ของอังกฤษ รวมทั้งการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นในภาคการธนาคารของยุโรป

EADS และ BAE ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอยู่ระหว่างการเจรจาควบรวมกิจการ ซึ่งจะทำให้เกิดบริษัทการบินเชิงพาณิชย์และกลาโหมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดย BAE มีแผนจะถือหุ้น 40% ในบริษัทใหม่ดังกล่าว ขณะที่ EADS จะมีหุ้น 60% และการเจรจาเกี่ยวกับการควบรวมกิจการมีกำหนดจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 ต.ค.

รัฐบาลของฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งต่างก็ถือหุ้นใหญ่ใน EADS กำลังรอให้โครงการควบรวมกิจการดังกล่าวมีความชัดเจนก่อนที่จะมีการประเมินและตัดสินใจใดๆ

นอกจากนี้ นายกฯเยอรมนียังได้หารือกับผู้นำฝรั่งเศสในประเด็นการกำกับดูแลภาคการธนาคารร่วมกันด้วย แต่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสหภาพการธนาคาร

ปธน.ฝรั่งเศสกล่าวว่าควรมีการกำหนดกรอบการทำงานของสหภาพการธนาคารไว้แต่เนิ่นๆจะเป็นการดีกว่า ขณะที่นางแมร์เคลเรียกร้องให้มีวิธีการที่ระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเน้นย้ำว่าควรมีการสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพ

ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำยุโรปได้ตัดสินใจให้กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือถาวรของสหภาพยุโรป สามารถเพิ่มทุนแก่ธนาคารต่างๆได้โดยตรง แทนการจัดสรรเงินกู้ผ่านรัฐบาล บนเงื่อนไขในการกำกับดูแลด้านการธนาคารร่วมกันภายในต้นปี 2556

ทั้งนี้ เยอรมนีและฝรั่งเศสเห็นพ้องกันเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านการธนาคารโดยรวม แต่มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับขอบเขตและความรวดเร็วของการกำกับดูแลดังกล่าว โดยฝรั่งเศสต้องการให้อีซีบีกำกับดูแลธนาคารทั้ง 6,000 แห่งในยูโรโซน ขณะที่เยอรมนีต้องการให้มีการกำกับดูแลเฉพาะธนาคารรายใหญ่ๆที่มีผลกระทบต่อยูโรโซนโดยรวม สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ