นักศศ.ค้านขึ้นค่าจ้างรวดเดียวทั่วปท. ห่วงผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน-ต้นทุนสินค้าพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2012 09:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เรื่อง "ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย" โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 64.3% เห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรวดเดียว 300 บาททั่วประเทศใน 70 จังหวัดที่เหลือแล้วคงที่ไว้เป็นเวลา 2 ปี(ปี 57-58) เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกทาง เนื่องจากธุรกิจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่อีกส่วน 18.6% เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกทางแล้ว เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อ เพิ่มการกระจายรายได้และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

เมื่อถามต่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศที่ 300 บาท/วัน เป็นการดำเนินการที่เหมาะสมหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ 72.9% เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ 17.1% เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ารัฐบาลควรดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้อยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 3.45% ต่อปี และเห็นว่าหากเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4.56% ต่อปี รัฐบาลควรมีการทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำก่อนเวลาที่กำหนดไว้

ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาและส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ คือ อันดับ 1 สินค้าจะเพิ่มขึ้น/เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น อันดับ 2 การเลิกกิจการของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่จะเพิ่มขึ้นและอันดับ 3 การจ้างแรงงานต่างด้าวที่จะเพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีข้อเสนอแนะรัฐบาล หากมีการดำเนินการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรวดเดียว 300 บาททั่วประเทศ ใน 70 จังหวัดที่เหลือในวันที่ 1 ม.ค.56 เพื่อให้นโยบายรัดกุมขึ้นหรือเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนี้

1.รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เพิ่มเติม(นอกเหนือจากการลดภาษีนิติบุคคล) เช่น การช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้กับผู้ประกอบการ, การพัฒนาสินค้าและด้านตลาด, มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่มีปัญหา, การตั้งกองทุนช่วยเหลือ

2.รัฐบาลควรทบทวนวิธีการขึ้นค่าจ้างอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจเป็นการทยอยปรับขึ้น, การปรับขึ้นค่าจ้างตามผลิตภาพการผลิต รวมถึงควรมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ ให้รอบคอบ

3.รัฐบาลควรถือโอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นระบบ มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ที่ขาดแคลน มีการศึกษาผลกระทบต่อการย้ายฐานการผลิต รวมถึงต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 70 คน ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 11-19 ก.ย.55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ