สศก.ชู 4 กรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารเสนอนายกฯก่อนประชุม ASEM พ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2012 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะอนุกรรมการจัดทำแผนเพื่อบริหารความมั่นคงด้านอาหารภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำ “กรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2556 — 2559)" ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลักๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลิตอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอได้ตลอดเวลา ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการผลิตอาหารคุณภาพดี ลดการสูญเสีย และมีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม และยุทธศาสตร์ที่ 4 รักษาเสถียรภาพการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนฯ ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์) เป็นประธาน เพื่อดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารให้ไปสู่เป้าหมายอันจะเกิดประโยชน์สำคัญ คือ มีการผลิตอาหารที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย ให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศตามหลักโภชนาการอย่างเหมาะสม ประชากรมีอาหารบริโภคในระดับครัวเรือน และชุมชนเพียงพอในภาวะปกติ รวมทั้งในกรณีภาวะฉุกเฉิน มีทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืนและเหมาะสม เกษตรกรมีระบบสวัสดิการและรายได้ที่มั่นคง และก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับองค์กรระหว่างประเทศด้านความมั่นคงอาหารตามกรอบความร่วมมือต่างๆ ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีภาพพจน์และบทบาทที่ดีในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญในประชาคมโลก และคงไว้ซึ่งการเป็นครัวของโลกต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ จะประสานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดทำแผนงาน/โครงการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวด้วย เพื่อให้การดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ฯ เกิดผลเป็นรูปธรรม

รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวได้มีการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและต่อเนื่องโดยมีการพัฒนาขึ้นตามสถานการณ์ในปัจจุบันและอยู่บนพื้นฐานกรอบยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงอาหารของหน่วยงานต่างๆของประเทศตามกรอบภูมิภาคอาเซียนขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น FAO และสอดคล้องกับการดำเนินงานภายใต้กรอบระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น Asia — Europe Meeting หรือ ASEM ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้นำผลการดำเนินงานที่สนับสนุนต่อกรอบยุทธศาสตร์ฯ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประชุมสุดยอด ASEM ครั้งที่ 9 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้ ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ