ผู้ว่าธปท.พร้อมรักษาเสถียรภาพศก.-การเงินรับมือความผันผวนโลก,หวังทำงานอิสระ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2012 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยว่า ในช่วง 2—3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา วิกฤตการเงินโลก และต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ในอดีตมักคิดว่าเกิดขึ้นทุก ๆ สิบปี แต่ระยะหลังเกิดขึ้นแทบทุกปี และแต่ละครั้งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกที่เคยสามารถขยายตัวได้ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมัน หรือวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย กลับหดตัวลงในช่วงวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้

นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายมากขึ้นทั่วโลกก็ส่งผลให้วิกฤตเศรษฐกิจลุกลามจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ภูมิภาคอื่นได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการแพร่กระจายไปในประเทศที่มีความเปราะบางทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ล่าสุด เห็นได้จากปัญหาวิกฤตลุกลามจากสหรัฐอเมริกาไปสู่ประเทศเล็ก ๆ ในทวีปยุโรปในระยะเวลาอันสั้น และมีทีท่าว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศหลัก จนผลักดันให้ธนาคารกลางหลายประเทศจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งให้ความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องในแบบที่เคยคิดว่าไม่ควรทำมาก่อน

ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ธปท.ปรับปรุงกรอบนโยบายการเงินจากการใช้นโยบายที่อิงการผูกค่าเงิน มาถึงการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินโดยใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลัก หรือกรอบนโยบายที่เรียกว่า flexible inflation targeting ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เริ่มนำมาใช้ กรอบนโยบายนี้มีโครงสร้างการดำเนินงานที่โปร่งใส ทำให้เป็นที่ยอมรับในประสิทธิผลของการช่วยส่งผ่านนโยบาย รวมทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธปท.

ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้มาจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางการเงิน เช่น ปริมาณเงินและสินเชื่อ กับตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพ และคาดการณ์ได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้เปลี่ยนไปมาก นวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย และตลาดทุนมีความสำคัญมากขึ้น ธปท. จึงได้ปรับมาใช้อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นตัวแปรด้านราคา เป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งสัญญาณทิศทางนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในแต่ละช่วงไปยังระบบเศรษฐกิจได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถเคลื่อนไหวยืดหยุ่นได้ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน และเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน มีบทบาทหน้าที่สำคัญที่ช่วยรองรับผลกระทบจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและความผันผวนที่มีความรุนแรงขึ้นเทียบกับในอดีต และการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันนี้ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายทั้งด้านเป้าหมายนโยบาย และเครื่องมือนโยบาย

และความผันผวนในระบบการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นความสำคัญในหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนสมดุลทางเศรษฐกิจ ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินได้ปรับตัวและตระหนักว่าต้องทำงานในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับปรุงการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินให้อิงกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ติดตามพัฒนาการในมาตรฐานการกำกับดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับโครงสร้างระบบการเงิน และสถาบันการเงินในประเทศ หรือการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Sector Master Plan) ซึ่งได้มีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมให้กับธนาคารพาณิชย์สำหรับการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความเข้มข้นขึ้น และพร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน 3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ ธปท.จะต้องยึดมั่นในหลักการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจการเงินมาโดยตลอด แต่ยังต้องอาศัยความมีอิสระในการดำเนินนโยบาย เพราะหากธนาคารกลางต้องคำนึงถึงความพอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โอกาสที่จะคิดนโยบายใหญ่ ๆ คิดอย่างมีกลยุทธ์ และหวังผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวก็จะน้อยลง ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ควรตระหนักในการดำเนินงานของธนาคารกลาง คือ ความสำเร็จขององค์กรไม่สามารถประเมินได้จากผลกำไรหรือราคาหุ้น ที่กิจการของเอกชน มักใช้เป็นเครื่องสะท้อนผลประกอบการ หรือการชี้วัดความน่าเชื่อถือจากผู้อหุ้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่มุ่งรักษาเสถียรภาพโดยรวม มิใช่การดำเนินงานเพื่อแสวงหาผลกำไร

ดังนั้น ธปท.จึงยึดมั่นในการสร้างคุณค่าของการดำเนินงานและความน่าเชื่อถือ ผ่านการดำเนินนโยบายด้วยความโปร่งใส มุ่งพัฒนาการสื่อสารถึงเป้าหมายของการดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน ซึ่งผลข้างเคียงจากการดำเนินพันธะกิจหลักของธนาคารกลาง คือ ต้นทุนในการดูแลเสถียรภาพที่ส่งผลต่องบดุลของธนาคารกลาง

“การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งอีกครั้ง โดยหากมองจากใกล้ตัวออกไป เรากำลังเห็นทั้งการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมในภาคการเงิน และภาคการผลิต ภายใต้การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อีกทั้งโลกในปัจจุบันที่รวมกันเป็นหนึ่งมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบของวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเปลี่ยนไปจากเดิม รวมทั้งสามารถส่งผ่านผลกระทบต่าง ๆ มายังเศรษฐกิจในประเทศได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นความท้าทายสำหรับธนาคารกลางที่จะต้องผสมผสานเครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ เพื่อดูแล ป้องกัน และลดทอนความเสี่ยงต่างๆ ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน"นายประสาร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ