ธปท.มองไทยเหมาะใช้นโยบายการเงินตามกรอบเงินเฟ้อ/นักวิชาการแนะเลิกแทรกแซงบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2012 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชนา พงศาปาน เศรษฐกรสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนองานวิจัยเรื่อง การดำเนินนโยบายการเงิน-เครื่องมือที่เหมาะสม ในงานสัมมนาวิชาการ ธปท.ประจำปี 2555 ว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยเหมาะสมที่จะใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากสามารถดูแลการเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน โดยธปท.สามารถเข้าแทรกแซงกลไกตลาดได้ในบางครั้งคราวแต่ก็มีข้อจำกัด

ประกอบกับสามารถควบคุมราคาสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้มีความร้อนแรงจนสร้างความเสียหายต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้นยังสามารถลดการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของเอกชนได้ค่อนข้างดีแม้อัตราเงินเฟ้อจริงจะอยู่ในระดับผันผวน

ทั้งนี้ในประเทศสิงคโปร์ ได้ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในประเทศทำให้เกิดปัญหาราคาสินทรัพย์ในประเทศร้อนแรงจนไม่สามารถที่จะให้นโยบายการเงินแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนั้น การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหลักในการลดอัตราเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อทุก 1% จะสร้างความผันผวนต่อการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่าการใช้นโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม ตลอด7 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว สะท้อนว่า ผู้ส่งอออกมีการปรับตัวรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ประกอบกับธปท.มีเครื่องมืออื่นที่จะช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเช่นการสนับสนุนให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยปี 2553 มีเงินออก 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 1,060 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 และล่าสุดครึ่งแรกของปีนี้มีเม็ดเงินออกไปแล้วจำนวน 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งให้ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในไทยมีความสมดุลมากขึ้น

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายวิจัย บล. ภัทร กล่าวว่า ธปท.ต้องมีการประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจที่จะมีพัฒนาการขึ้นในอนาคต โดยหากตัดสินใจใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อก็ควรที่จะเลิกเข้าไปแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมีผลให้ธปท.มีสถานะขาดทุนตลอด10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นพิจารณาทางเลือกอื่นที่จะเข้าไปดูแลแทน โดยเฉพาะการมองไปข้างหน้าถึงปัจจัยของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไรและไทยมีทางเลือกในการทำนโยบายการเงินอย่างไร “ผมเห็นด้วย ธปท.ทำนโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อได้ แต่ไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาเรื่องงบดุลและจะลำบากขึ้น เพราะปัจจัยรอบข้างของโลกมันเปลี่ยนแปลงไปมาก และตอนนี้ธปท.ไม่อยู่ในฐานะที่จะเลือกทำทุกอย่างได้ เพราะเราอยู่ในโลกที่มีความผิดปกติอย่างมาก" นายศุภวุฒิ กล่าว

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อของธปท.และเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมาตลอดก่อนปี 2552 ก่อนที่จะมาหยุดชั่วคราวช่วงเหตุอุทกภัยในปปลายปี 2554 ส่งผลเสียต่อการขาดทุนทางบัญชีของธปท. จากเดิมมีสัดส่วนสินทรัพย์เทียบกับหนี้สินที่ 50ต่อ50 แต่ปัจจุบันสัดส่วนสินทรัพย์เหลือเพียง6-7%เท่านั้น ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อธปท.มีการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆการขาดทุนจะไปอยู่ที่จุดไหน

ขณะที่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกระทบต่อเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และตลอด2ปีข้างหน้านับจากนี้อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่างประเทศก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำลงไปอีกดังนั้นทางการไทยจะจัดการต่อปัญหานี้อย่างไร โดยหากเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไปเรื่อยการแก้ไขปัญหาการขาดทุนก็จะไม่สำเร็จ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ