นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ส่งสัญญาณว่า ประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟอาจจะยังไม่ลงมติดำเนินการแผนปฏิรูปไอเอ็มเอฟในการประชุมประจำปีซึ่งจะจัดขึ้นที่เดือนหน้าในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยแผนปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในองค์กร
"เป้าหมายของเราคือการบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับมาตรการการปฏิรูปไอเอ็มเอฟโดยรวมให้ทันเวลาในการประชุมประจำปีที่กรุงโตเกียว เราจะทำทุกอย่างเท่าที่ขอบข่ายอำนาจของเราจะทำได้ เพื่อช่วยให้สมชิกชิกของเราไปถึงเป้าหมายนั้น แต่หากเราไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในเดือนต.ค. ก็อาจจะมีการดำเนินการอย่างเร็วที่สุดหลังจากนั้น" นางลาการ์ดกล่าว
ในปี 2553 ไอเอ็มเอฟ ได้ตกลงที่จะดำเนินมาตรการปฏิรูปสถาบันอย่างเร่งด่วน รวมถึงการโอนสิทธิการออกเสียงกว่า 6% ไปให้กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เพื่อจะสะท้อนถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มประเทศดังกล่าวในเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวไอเอ็มเอฟมีเป้าหมายที่จะดำเนินการแผนการปฏิรูปฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจาก 188 ชาติสมาชิก และผลักดันให้ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาอย่างสมบูรณ์ภายในการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของไอเอ็มเอฟ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการให้สัตยาบันมาตรการดังกล่าวก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย.
นอกจากนี้ นางลาการ์ดยังส่งสัญญาณว่า ไอเอ็มเอฟมีแนวโน้มปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจจากที่เคยคาดไว้ในเดือนก.ค. เมื่อไอเอ็มเอฟเปิดเผยรายงานเศรษฐกิจรอบครึ่งปีในเดือนหน้า
"เรายังคงคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัว แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนก.ค. เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ยังคงห่างไกลจากภาวะที่ควรจะเป็น และยุโรปจะยังคงเป็นศูนย์กลางของวิกฤต ซึ่งนี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องจัดการ" นางลาการ์ดกล่าว
ทั้งนี้ นางลาการ์ดได้แสดงท่าทีขานรับการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ), ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวเป็น "สัญญาณด้านนโยบายที่สำคัญในทิศทางที่ถุกต้อง"
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกจะจัดการประชุมประจำปีที่กรุงโตเกียวในเดือนต.ค.นี้