"ศุภวุฒิ"แนะ ธปท.เลิกแทรกแซงค่าเงิน นโยบายการเงินเริ่มจำกัดรับมือศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2012 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวถึงสถานะทางการเงินของธนาคารกลางและนัยเชิงนโยบาย ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลค่าเงินบาทจะส่งผลต่องบดุลของธปท.มีความผันผวนรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าตั้งแต่ปี 51 กำไรสุทธิของธปท.ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากมีการแทรกแซงค่าเงินมากขึ้น ทำให้เกิดต้นทุนที่ 3-4% ขณะที่ได้รับผลตอบแทนเพียง 1%

อย่างไรก็ตาม การขาดทุนของธนาคารกลางไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และไม่มีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่งบดุลที่แสดงผลขาดทุนมากขึ้นจะส่งผลต่อความยืดหยุ่นของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ดังนั้น นับแต่นี้ไป ธปท.ไม่ควรที่จะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะจะยิ่งทำให้เกิดผลขาดทุนมากขึ้น และควรจะปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด

“ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องลดการพึ่งพาการส่งออกและหันมากระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เลิกตั้งเป้าหมายให้ส่งออกขยายตัวเป็น 3 เท่าของจีดีพี เพราะหากยังพึ่งการส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ต้องอุ้มผู้ส่งออกต่อไป “ นายศุภวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจการเงินโลกอยู่ในภาวะผิดปกติ การออกมาตรการ QE3 ของสหรัฐที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการนั้น จะส่งผลกระทบใน 3 ด้าน คือ ส่วนต่างดอกเบี้ยในและต่างประเทศจะทำให้ ธปท.ขาดทุนมากขึ้นในระยะยาว และความเสี่ยงจะมีมากขึ้นจากการที่มีเงินไหลเข้ารุนแรง และหากสหรัฐยังคงนโยบายพิมพ์เงินเพิ่มเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องจะทำให้สินทรัพย์ของ ธปท.ด้อยค่าลงเรื่อยๆ

ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว การที่ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ยังสูงจะบังคับให้ ธปท.มีการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบเพื่อชดเชยส่วนต่างดังกล่าวหรือไม่ เพราะปัจจุบัน Net interest income ของ ธปท.ติดลบกว่า 7 หมื่นล้านบาท และความเสี่ยงของเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นจะทำให้ ธปท.อยู่ในฐานะลำบากต่อการแทรกแซงค่าเงินหรือไม่ เพราะจะยิ่งทำให้ ธปท.มีผลขาดทุนมากขึ้น และกังวลอีกว่าสินทรัพย์ของ ธปท.จะเสื่อมค่าลง แต่หากปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า สินทรัพย์ ธปท.ก็จะด้อยค่าลดลง หรือหากจะปล่อยให้ขาดทุนและให้ทางการเพิ่มทุนให้ ก็จะสูญเสียความเป็นอิสระ

“งบดุลของแบงก์ชาติมีขนาดใหญ่ขึ้น ทางเลือกต่างๆ ก็มีน้อยลง ความยืดหยุ่นก็มีจำกัด ...เราถูกตั้งคำถามว่าเมื่อใช้ inflation targeting ที่สามารถกำหนดดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ตรงไหนและนานแค่ไหน แต่ในความเป็นจริง ความผิดปกติของเศรษฐกิจโลกในปัจจัย การที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเล็ก ทำให้การใช้ inflation targeting ก็มีข้อจำกัด" นายศุภวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีเครื่องมือใหม่ๆ ใดๆสามารถรองรับความผิดปกติของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นขณะนี้ได้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในตำรา ดังนั้นคงต้องมีการติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพราะมองว่าสหรัฐคงจะใช้ QE3 ต่อไปอีกอย่างน้อย 30 เดือน หรือกลางปี 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ