นายธรรมรัต หวั่งหลี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เล็งเห็นโอกาสในขยายฐานการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องประเทศในภูมิภาคเอเชียยังมีศักยภาพมากกว่าทวีปอื่นๆ ทั้งในเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน รสนิยมการบริโภค ระยะทางและระบบระบบ Logistic ที่เหมาะสมกับผลไม้ไทย โดยเฉพาะ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงค์โปร อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย น่าจะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของผลไม้ไทยในอนาคต
หลังจากสามารถส่งออกผลไม้สดไปตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สูงเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2554 ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนได้รวม 505,606 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 13, 957 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึงร้อยละ 15.45 และ 29.20 ตามลำดับ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ขายผลผลิตได้เพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณ
อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ผู้ส่งออก และภาครัฐต้องร่วมมือกันยกระดับผลไม้ไทยให้เป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน รสชาติ และประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อกระจายไปสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น โดยในเบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดทิศทางในการดำเนินการในเรื่องนี้ไว้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตทั่วทุกภาคของประเทศ ทำการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และคัดบรรจุผลผลิต ให้ได้ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
2.สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาผลไม้และผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติเหมาะสมตามความต้องการของตลาด ยืดอายุการเก็บรักษาให้มีระยะเวลานานขึ้น 3.พัฒนาและใช้ระบบ Logistic และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการส่งออกผลไม้ไทย ไม่ว่าจะเป็นขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยให้มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำที่สุด และ 4.ประชาสัมพันธ์และแนะนำผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในโอกาสและเทศกาลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
"การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นมีเป้าหมายเพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักยอมรับ และนำไปสู่การส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลไม้ไทยมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกผลไม้ไปยังทั่วโลกประมาณปีละ 1,222,596 ตัน คิดเป็นมูลค่า 30,056 ล้านบาท" นายธรรมรัต กล่าว