(เพิ่มเติม1) สศค.ลด GDP ปี 55 โต 5.5% หลังคาดส่งออกโตแค่ 4.5%, GDP ปี 56 โต 5.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2012 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(GDP) ในปี 55 เหลือโต 5.5% จากเดิมคาด 5.7% หลังจากประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวลดลงเหลือเพียง 4.5% แต่คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปีนี้จะโตสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ 14.1% ส่วนในปี 56 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 5.2% โดยมีปัจจัยเศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยงหลัก แม้ว่าจะมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับก็ตาม

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 จะขยายตัวได้ที่ 5.5% จากช่วงคาดการณ์ที่ 5.3-5.8% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามปัญหาข้อจำกัดในภาคการผลิตที่เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับอุปสงค์ภาคเอกชน ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่สามารถฟื้นกลับสู่ระดับก่อนอุทกภัยได้แล้ว นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐ เช่น การเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ภาคการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอและผันผวนสูงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ทำให้คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวเพียง 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวราว 12.8% โดยช่วงที่เหลือของปีมูลค่าการส่งออกควรอยู่ที่ 1.8-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวได้ถึง 10.5% และคาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะอยู่ที่ 3.3% จากช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-3.5% ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลง ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2%

นายสมชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้เริ่มปรับสมดุลมากขึ้น โดยลดการพึ่งพาการส่งออก แต่หันมาพึ่งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยการบริโภคภาคเอกชนปีนี้จะขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากปี 47 โดยขยายตัวที่ 5.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปี 47 เช่นกัน หรือขยายตัวที่ 14.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสอดรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 8.1%

"การบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะมีบทบาทในการฟ้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวจากกลบเข้าสู่ระดับก่อนถูกน้ำท่วม...เศรษฐกิจในไตรมาส 3/55 คาดว่าขยายตัว 4% และไตรมาส 4/55 ขยายตัวมากกว่า 10% เพื่อให้ทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย"นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 56 มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.2% จากช่วงคาดการณ์ที่ 4.7-5.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ อันมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้าในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 56

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยง แต่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ทำให้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 10.5% และการนำเข้าขยายตัว 11.0% ดุลการค้าเกินดุล 5.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง ภายหลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ 3.5% จากช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0% ตามอุปสงค์น้ามันในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชีย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.1%

นายสมชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างในประเทศและต่างประเทศจะสมดุลมากกว่าในปีนี้ โดยในประเทศการลงทุนภาครัฐจะเป็นหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 10% ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกคาดการณ์ขยายตัว 4.1% จากปีนี้คาดว่าขยายตัว 3.6% เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 0.5% จากปีนี้คาดติดลบ 0.9% เศรษฐกิจจีนขยายตัว 8.5% จากปีนี้ขยายตัว 7.8% สหรัฐเศรษฐกิจขยายตัว 2.4% จาก 2.2% ในปีนี้

สศค.ประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายยังคงทรงตัวที่ระดับ 3% ต่อไปในปีหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ระดับ 113 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนระดับหนี้สาธารณะของไทย จะอยู่ในระดับสูงสุดในปี 59 ที่ 50% จากการก่อหนี้ ตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการเมืองในต่างประเทศซึ่งขณะนี้มีความขัดแย้งในหลายประเทศ ทั้งจีนและญี่ปุ่น ซึ่งหากข้อพิพาทยังไม่ยุติโดยเร็ว อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติโลกได้ ส่วนปัญหาระหว่างสหรัฐกับชาติมุสลิ หวังไม่รุนแรงลุกลาม รวมถึงการเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศ ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เยอรมัน

"ในการประมาณการเศรษฐกิจจำเป็นต้องคานึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่จะเป็นไปได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะเป็นไปตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย"นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ