นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(SMEs) ส่วนใหญ่ 60.7% จากทั้งหมด 2.9 ล้านราย ยังไม่ได้ปรับตัวให้มีความพร้อมพร้อมที่จะรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 โดยธุรกิจที่ยังไม่ได้ปรับตัวเลยคือ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ ข้าว เซรามิก และผลิตภัณฑ์จากยางพารา
สาเหตุที่ผู้ประกอบการฯ ยังไม่มีความพร้อม เพราะส่วนใหญ่ 42.4% รอแนวทางช่วยเหลือที่ชัดเจนจากภาครัฐ รองลงมาเกือบ 30% พบว่ายังไม่ทราบข้อมูลหรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับ AEC ที่ชัดเจน ส่วน 18.5% ขาดเงินทุนในการปรับตัว และอีก 9.3% คิดว่าตัวเองเป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเอสเอ็มอีเพื่อเออีซีขึ้นมาช่วยเหลือโดยตรง
สำหรับ SMEs ที่ปรับตัวพร้อมรับการเปิด AEC เรียบร้อยแล้วมีเพียง 7.3% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก แก้วและอัญมณี ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
"ผลสำรวจที่ออกมาถือว่าไม่เป็นผลดีนัก และมีผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้จำนวนน้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เหลืออีกแค่ 2 ปี 4 เดือนที่จะเปิดเออีซี เพราะที่จริงตัวเลขที่ออกมาเวลานี้ ผู้ประกอบการควรจะต้องปรับตัวพร้อมรับเออีซีแล้วให้ได้อย่างน้อย 50% ซึ่งหากเอสเอ็มอีไทยปรับตัวไม่ทันก็จะทำให้ภาพรวมการค้าของประเทศชะลอตัว รวมถึงทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในอาเซียนของไทยหายไป" นายอัทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการฯ เห็นว่า ประเด็นเร่งด่วนที่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ AEC คือ ต้องการเร่งบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบ และระบบโลจิสติกส์ รองลงมาคือ ปรับตัวเพื่อให้ราคาสินค้าแข่งขันได้ และเร่งปรับตัวด้านภาษา โดยสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดคือ การมีมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือที่ชัดเจน รวมทั้งหาช่องทางการตลาดให้ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ AEC ดูแลราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และลดค่าจ้างแรงงาน