กสิกรฯคาดส่งออก Q3/55 หดตัว 2% ทั้งปีโต 3-7%, ปี 56 อาจฟื้นโต 2 หลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 26, 2012 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากสัญญาณที่อ่อนแอต่อเนื่องของภาคการส่งออกไทย ทำให้คาดว่า การส่งออกในไตรมาส 3/55 นี้จะหดตัวลงไม่น้อยกว่า 2% จากที่ขยายตัวได้ 2% ในไตรมาส 2/55 ที่ผ่านมา พร้อมประเมินกรอบการเติบโตของการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 3.0-7.0% น่าจะยังคงสมเหตุสมผล เนื่องจากสถานการณ์ในภาพรวมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้มากนัก

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขส่งออกเดือนส.ค.หดตัวลงมากกว่าที่คาด อีกร้อยละ 6.9 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 4.5 (YoY) และร้อยละ 2.3 (YoY) ในเดือนกรกฎาคม และมิถุนายน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมทองคำ การส่งออกของไทย จะหดตัวลงถึงร้อยละ 10.8 (YoY) ในเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 2.4 ในเดือนก.ค.

ขณะที่การนำเข้าในเดือนส.ค. 55 พลิกกลับมาหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ 8.8 (YoY) จากที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.7 (YoY) ในเดือนกรกฎาคม โดยหากไม่นับรวมทองคำ อัตราการหดตัวของการนำเข้าจะลดลงมาที่ร้อยละ 3.8 (YoY) ในเดือนส.ค.

ส่วนดุลการค้าในเดือนส.ค. ขาดดุลต่อเนื่องอีก 1.021 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นยอดขาดดุลที่มากเกินกว่าระดับพันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อย่างไรก็ดี ดุลการค้าสุทธิที่ไม่นับรวมข้อมูลการค้าทองคำ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.842 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ ระดับการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการ เช่น ยางพารา, ทองคำ และข้าว (ถ้ามีการทยอยส่งมอบข้าวตามสัญญาที่ได้ทำแบบรัฐต่อรัฐ) อาจช่วยบรรเทาทิศทางที่อ่อนแอของตลาดส่งออกสำคัญของไทยไว้ได้บ้างบางส่วน แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตาม 2 ตัวแปรสำคัญที่น่าจะมีผลช่วยเร่งระยะเวลาการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจจีน ที่น่าจะทยอยปรากฎสัญญาณในเชิงบวกบางส่วนออกมาในช่วงปลายปี 55 ซึ่งหากจีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะทำให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยมีภาพที่ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ ตัวแปรสำคัญอีกประการคือ สถานการณ์ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โลก ที่ถูกคาดหวังว่าจะได้รับอานิสงส์ในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศแกนสำคัญของโลก โดยแรงหนุนทางด้านราคาของสินค้าส่งออกบางประเภทของไทยจากทิศทางในตลาดโลกนี้ น่าที่จะช่วยชดเชยแนวโน้มที่ไม่แน่นอนในส่วนที่เกิดจากมิติของสถานการณ์ด้านอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ทั้งในส่วนของตลาดกลุ่มประเทศ G-3 (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) และเอเชีย ลงไปได้บ้างบางส่วน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ขณะนี้โจทย์สำหรับภาคการส่งออกไทยมาจากหลากหลายด้าน ทั้งในแง่ของสัญญาณความอ่อนแอในตลาดส่งออก ซึ่งปรากฎขึ้นพร้อมกันทั้งในตลาดหลัก(สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป) และตลาดศักยภาพ(เช่น จีน และอาเซียน) ในขณะที่การฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วมในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เวลาเกือบปีในการกลับสู่ภาวะปกติโดยสมบูรณ์ รวมถึงโจทย์ความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเสียเปรียบด้านต้นทุน และยากที่จะแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง (อาทิ สินค้าที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก และสินค้าเกษตร) ก็เป็นสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในภาคการส่งออกด้วยเช่นกัน

สำหรับทิศทางการส่งออกของไทยในปี 56 นั้น แม้ในเวลานี้จะยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการประเมินสถานการณ์แนวโน้มตลาดส่งออกในช่วง 1 ปีข้างหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า การส่งออกของไทยในปีหน้ายังมีโอกาสขยายตัวสูงเป็นตัวเลขสองหลักได้ ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปไม่ได้เผชิญกับภาวะไร้เสถียรภาพที่รุนแรงนอกเหนือการควบคุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ