รมช.คมนาคม ชี้ระบบรางปัจจุบันไม่พร้อมแข่งขันหากเข้า AEC/นักวิชาการแนะขยายโครงข่ายภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 26, 2012 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ระบบขนส่งทางรางที่ประเทศไทยมีใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะรองรับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน หากจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)

"ขณะนี้ระบบรางของไทยมีแบบระบบรางทั่วไป 4,300 กิโลเมตร ส่วนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสและใต้ดิน 80 กิโลเมตร และจะมีถึง 470 กิโลเมตรภายใน 5 ปี ขณะที่รถไฟที่ใช้ในระบบขนส่งสินค้ามีเพียงร้อยละ 2.5 รถยนต์ขนส่งร้อยละ 84 ซึ่งหากอัตราระบบขนส่งรถไฟระดับนี้จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้" นายชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการโครงการรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ แม้หลายฝ่ายสนับสนุนให้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่มีคนคัดค้าน แต่ต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน โดยเฉพาะบุคลากร ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปปรับปรุง

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตประมาณ 3 ปีจะเห็นการขนส่งระบบรางเพิ่มมากขึ้น โดยในกรุงเทพฯ จะมีรวม 270 กิโลเมตร นอกจากนี้จะมีรางคู่และหัวรถจักรใหม่ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรรถไฟ ทั้งนี้หากไทยสามารถเชื่อมระบบรถไฟกับเมืองคุนหมิงของจีนได้ จะสามารถเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยในหลายด้าน

ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาการคมนาคมระบบราง แสดงความเป็นห่วงเรื่องต้นทุนของระบบโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนสูง เพราะใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก และยังมีปัญหาในระบบรางที่ต้องพัฒนาเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายเดียวกันเพื่อลดต้นทุน และขับเคลื่อนระบบราง ซึ่งส่วนหนึ่งจะลดก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นประเทศไทยต้องร่วมพลิกโฉมรถไฟไทยให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ให้ได้

ส่วนโครงการรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์นั้นน่าจะเป็นหนี้ก้อนใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เพราะประสบปัญหาผู้โดยสารน้อย โดยเฉพาะสายเอกซ์เพรส ดังนั้นจึงขอเสนอให้เปลี่ยนบอร์ดใหม่ ขณะที่ ร.ฟ.ท.เป็นหน่วยงานที่จะปูทางสู้ AEC แต่กลับมีหนี้สินกว่าแสนล้านบาท ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยการตั้งบริษัทพัฒนาที่ดินของการรถไฟ มาพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทาง เช่น สร้างที่พัก คอนโด ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและปลดหนี้ได้

ด้านนายวิโรจน์ รุโจปการ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หากประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงอาจจะประสบภาวะขาดทุนได้ จึงอยากให้คิดรอบคอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ นอกจากนี้จะต้องเชื่อมโยงระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพื่อดึงคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

ส่วนนายประมวล สุธีจารุวัฒน รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาครัฐต้องเตรียมแผนรองรับกระบวนการขนส่งทางรางในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร ถ้ามีการขยายระบบขนส่งทางรางในกลุ่มประเทศอาเซียน ต้องคำนึงถึงมาตรฐานเดียวกัน และเห็นด้วยที่ไทยจะขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประเทศในกลุ่มอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ