นายยูน เกียง-ซู นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุในรายงนฉบับหนึ่งว่า เกาหลีใต้ต้องติดตามและบริหารจัดการกระแสเงินทุนใหลเข้าจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและเหมาะสม เนื่องจากเงินทุนดังกล่าวอาจใหลออกนอกประเทศอย่างฉับพลันเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
รายงานระบุว่า เกาหลีใต้ต้องกำกับดูแลกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ผ่านทางการกู้ยืมในภาคธนาคารและการลงทุนในพันธบัตรเนื่องจากเป็นเงินทุนที่ไม่มีเสถียรภาพ
ในช่วงที่ตลาดโลกมีสภาพคล่องสูงเกินไป เงินทุนไหลเข้าไปยังตลาดเกิดใหม่จะเพิ่มขึ้นในรูปของการกู้ยืมในภาคและการลงทุนในพันธบัตร แต่กระแสเงินทุนจะมีการพลิกผัน โดยเปลี่ยนเป็นกระแสเงินทุนไหลออกในช่วงวิกฤต ภายหลังช่วงเกิดวิกฤต สภาพคล่องในภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แม้ว่ามีสภาพคล่องในภาครัฐบาล
สภาพคล่องในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก โดยพุ่งขึ้นจาก 76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2544 เป็น 138 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 สภาพคล่องดังกล่าวลดลงเหลือ 124 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2552 อันเนื่องมาจากวิกฤต แต่กลับเพิ่มขึ้นเป็น 143 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 2 ปีต่อมา อันเนื่องมาจากสภาพคล่องของภาครัฐ หรือเงินสำรองของธนาคารกลางต่างๆ
นักเศรษฐศาสตร์ได้เรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆกำหนดนโยบายบริหารจัดการเงินทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพุ่งขึ้นของกระแสเงินทุนไหลเข้าที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่บริหารจัดการมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนและระบบความปลอดภัยทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกระแสเงินทุนไหลออกที่มีความเป็นไปได้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน