นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.) ได้มอบหมายให้ สศก.ในฐานะเลขานุการ ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2556-2560 เนื่องจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปี 2551-2555 กำลังจะสิ้นสุดลง สศก.จึงได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการเรื่อง แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2556-2560 เพื่อให้ได้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และเป็นแผนพัฒนาที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมจัดทำและให้การยอมรับ ทั้งจากผู้แทนภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป โดยมีกำหนดจัดประชุมในแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่สำคัญ ใน 2 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ และ ชุมพร ในวันที่ 26 และ 28 กันยายนนี้ ตามลำดับ
การจัดสัมมนาดังกล่าวจะนำไปสู่แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างมีประสิทธิผลสอดคล้องกับความต้องการบริโภคสำหรับใช้เป็นอาหารและพลังงานทดแทน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และลดอัตราการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ตลอดจนลดภาวะก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั้งประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่ ในปี 2555 พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ สศก.จะนำผลจากการสัมมนา รวบรวมนำเสนอต่อ กนป. และจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันฯ ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้สอดคล้องกัน และพัฒนาต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยนั้น ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนปัจจุบันปาล์มน้ำมันกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยมีพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 4.5 ล้านไร่ ผลผลิตผลปาล์มสด 11.33 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.93 ล้านตัน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มไม่ต่ำกว่า 64,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ภาคใต้ และมีการปลูกมากที่สุดในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูล และตรัง ซึ่งจากปัญหาวิกฤตราคาน้ำมันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืช กล่าวคือ ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลัง และการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันร้อยละ 3 และร้อยละ 5 หรือที่เรียกกันว่าน้ำมัน บี 3 และ บี 5 ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จากที่ประเทศภาคีสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA มีเป้าหมายที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้การค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศสมาชิกมีความเสรีมากขึ้นนั้น สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้กำหนดให้น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง และทยอยลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มลงตามลำดับ จนถึงปี 2550 เหลือร้อยละ 5 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 รวมทั้งเมื่อถึงปี 2558 ประเทศไทยภายใต้ AEC ต้องขจัดอุปสรรคทางการค้าให้หมดไป จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามาแข่งขันกับน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อให้เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มภายในประเทศทั้งระบบอาจได้รับผลกระทบ โดยราคาน้ำมันปาล์มในประเทศจะต้องลดลงจนใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์มของมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย และส่งผลต่อราคาผลปาล์มที่จะต้องลดลงตามไปด้วย