นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้ปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวิสัยทัศน์ปี 2556 จะเป็นหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศชั้นนำของเอเชีย ภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่เน้นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั้ง 2 ทาง คือการส่งเสริมการส่งออกและส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบ เทคโนโลยีและแรงงานฝีมือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างเสถียรภาพทางการค้าระหว่างประเทศ
“ในปี 2556 นี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์การผลักดันการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและธุรกิจบริการของไทยในเชิงรุกอย่างบูรณาการ เพื่อให้สอดรับกับพันธกิจ 3 ด้าน คือ 1.การขยายตลาดสินค้าและบริการของไทย 2.พัฒนาและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและธุรกิจบริการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และ 3.เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดอาเซียนและตลาดโลก" นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯได้จัดทำแผนกลยุทธ์ 7 กลยุทธ์ ดังนี้ 1.พัฒนาและส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาและส่งเสริมการค้าออนไลน์ 3.พัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีและโอท็อป 4.ส่งเสริมการลดต้นทุนและการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ทางการค้า 5.รักษาตลาดหลัก เน้นขยายตลาดใหม่ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เออีซี 6.สร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานประเทศผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสูง และ7.พัฒนาบุคลากรและระบบข้อมูลการค้าอย่างต่อเนื่อง
ในการขยายตลาดสินค้าและบริการไทย แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากตลาดหลัก ทั้งจากสหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ทางกรมฯได้จัดเตรียมแผนงานในการผลักดันการค้าในปี 56 ไว้รวมประมาณ 463 โครงการ จากปี 55 ที่ดำเนินกิจกรรมประมาณ 411 โครงการ จะเน้นหนักในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก-นำเข้า อาทิ การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศการนำเอกชนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ 96 งาน การจัดงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศกับจัดไทยแลนด์เทรดโชว์ ในอาเซียนรวม 22 ครั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า หรือ ผู้นำเข้าในต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนการค้าเยือนงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศมากกว่า 2,000 ราย เป็นต้น
และเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน(เออีซี) ยังมีโครงการสำคัญของกรมฯในปี 56 อาทิ โครงการ “ต้นกล้าทูโกล" เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพการแข่งขันให้แก่เอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพส่งออก โดยจะนำเข้าร่วมกิจกรรมหลากหลาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแบบเชิงลึก เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาแนะนำแบบตัวต่อตัว การพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญให้มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการส่งออก พาออกงานแสดงสินค้า และเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศ เดินทางไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อจะให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ มีความพร้อมที่สุดสำหรับการประกอบธุรกิจหลังจากเปิดเออีซี
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเอสเอ็มอี ในลักษณะเครือข่ายทางธุรกิจ (Cluster & Networking) และการวางแผนสำรองเพื่อพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจนั้น จะนำมาซึ่งการลดต้นทุนและสร้างอำนาจต่อรองในลักษณะของ Win-Win ทั้งต่อคู่ค้าและลูกค้า อีกทั้งยังสร้างขยายเครือข่ายไปยังผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain)
นอกจากนี้ กรมฯยังได้จัดตั้งศูนย์บริการให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ในอาเซียน 9 สำนักงาน ได้แก่ สคต. ณ กรุงจาการ์ตา(อินโดนีเซีย) กรุงย่างกุ้ง(พม่า) กรุงกัวลาลัมเปอร์(มาเลเซีย) กรุงฮานอย(เวียดนาม) กรุงพนมเปญ(กัมพูชา) เป็นต้น , การพัฒนาระบบข้อมูลการค้าและการลงทุนเชิงลึก ซึ่งเป็นข้อมูลเออีซีบนเว็บไซต์กรมฯ และเชื่อมโยงกับเว็บไซต์หน่วยงานต่างๆ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในอาเซียน 9 งาน และการจัดไทยแลนด์ เทรด โชว์ 13 งาน เป็นต้น
ก่อนหน้านี้กรมฯได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ เป็น "Department of International Trade Promotion" ใช้ตัวย่อว่า DITP ตั้งแต่มกราคม 2555 ส่วนชี่อภาษาไทยสำนักราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 กันยายน 2555 เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2555 เป็นต้นไป