(เพิ่มเติม1) สศอ.เผยดัชนี MPI เดือนส.ค.ลดลง 11.32%จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 28, 2012 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) เดือนส.ค. 55 อยู่ที่ 174.11 ปรับลดลง -11.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -2.57% จากเดือนก.ค. 55 เนื่องจากการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ HDD และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติยุโรป การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.36%

สาเหตุที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. ลดลง เนื่องมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จีน ญี่ปุ่น และยุโรปชะลอ โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านลบ ได้แก่ HDD ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านบวกต่อดัชนี ฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำตาล ปูนซีเมนต์

นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ดัชนีฯ เดือนส.ค.ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกลดลง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยชะลอตัว อาทิ จีน ญี่ปุ่น โดยเฉพาะยุโรป ที่มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ คือ สิ่งทอ อัญมณี ยางพารา

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ เดือนส.ค. ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ผลมาจากการบริโภคที่เร่งตัว หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบขยายเวลาการส่งมอบรถยนต์ สำหรับนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกอย่างไม่มีกำหนด ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะมีการขยายตัวต่อไป และ มีการลงทุนจากเอกชนไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน เมื่อรวมกับการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ที่จะใช้เงินลงทุนอีกกว่า 2.27 ล้านล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมสาขาสำคัญ ในเดือนส.ค. 55 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตและการจำหน่ายขยายตัว 41.20% และ 38.18% ตามลำดับ เป็นผลมาจากยอดค้างส่งมอบรถยนต์จำนวนมาก (Back order) เนื่องจากน้ำท่วมในปลายปี 54 และนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดรถยนต์ขยายตัวอย่างมาก

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การผลิตและการจำหน่ายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ปรับตัวลดลงใกล้เคียงกันที่ 38.42% และ 38.49% เนื่องจากบางบริษัท ยังไม่สามารถทำการผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ จากอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อน นอกจากนี้บางบริษัทก็ได้รับยอดการผลิตและการจำหน่ายน้อยลงจากบริษัทแม่ เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์น้ำท่วมที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้

อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ ภาวการณ์ผลิตและจำหน่ายลดลง จากปัญหาอุทกภัยในปลายปีก่อน ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆก็ตาม รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ส่วนการผลิตเครื่องแต่งกาย การผลิตลดลง 7.83% และจำหน่ายลดลง 12.22% เนื่องจากความกังวลปัญหาน้ำท่วม ส่วนการส่งออกเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดหลัก คือ ยุโรปและสหรัฐอเมริกา

นายหทัย กล่าวต่อว่า สศอ. ประเมินสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EU แล้วคาดการณ์ว่า จะส่งผลกระทบต่อภาวะอุตสาหกรรมไทยอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 3 เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่มีตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สศอ.คาดว่าแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี อุตสาหกรรมที่น่าจะยังส่งผลบวกต่อเนื่อง คือ ยานยนต์ ซึ่งเป็นผลจากจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องถึงกลางปี 56 และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและมีแนวโน้มผลผลิตอาหารโลกอาจขาดแคลน แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่มอาหารทะเล น่าจะยังติดลบอยู่ เพราะตลาดหลัก คือยุโรปยังมีปัญหาและอาจหันไปนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศอื่นที่มีค่าขนส่งถูกกว่า เช่น แอฟริกา

ภาพรวมทั้งปี ยังคงคาดการณ์ MPI ที่ 6-7% แต่ สศอ. เตรียมจะประเมินตัวเลขอีกครั้งหลังจากผ่านไตรมาส 3/55 ไปแล้ว หรือหลังจากสิ้นเดือนก.ย.55 แต่โดยรวมคาดว่า MPI ในเดือน ก.ย.55 น่าจะยังใกล้เคียงกับเดือน ส.ค.55 โดยอาจจะติดลบ 2 digit ปัจจัยหลักยังมาจากผลกระทบวิกฤติยูโรโซน ประกอบกับฐานในเดือน ก.ย.54 อยู่ในระดับสูง เพราะเป็นช่วงที่ภาคการผลิตฟื้นตัวหลังเกิดสึนามิและแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ