กบข.การันตีสมาชิกได้เงินคืนภายใน7วัน แนะออมต่อเพื่อบริหารเงินให้งอกเงย

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 30, 2012 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ใน วันที่ 1 ตุลาคมนี้ กบข.จะเริ่มดำเนินการจ่ายเงินคืนให้สมาชิก กบข.ที่พ้นสมาชิกภาพประมาณ 33,000 คน แบ่งเป็นสมาชิกที่เกษียณอายุราชการจำนวน 15,000 คน เกษียณก่อนกำหนด (Early retire) ประมาณ 18,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการทหาร และข้าราชการตำรวจ เบื้องต้นคาดว่าปีนี้จะใช้เงินเพื่อจ่ายคืนสมาชิกพ้นสภาพประมาณ 25,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กบข.จะดำเนินการจ่ายเงินคืนให้สมาชิกภายใน 7 วันทำการหลังจาก กบข.ได้รับเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้อง โดยสมาชิกสามารถเลือกวิธีขอรับเงินคืนได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร 2) สั่งจ่ายเช็คขีดค่อม และ 3) ธนาณัติ

อย่างไรก็ดี กบข.แนะนำให้สมาชิกเลือกวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของสมาชิกซึ่งจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด ขณะที่การขอรับเงินคืนวิธีอื่นนั้นจะมีข้อจำกัดสำหรับสมาชิก เช่น เช็คและธนาณัติสั่งจ่ายจะกำหนดวันหมดอายุ หากสมาชิกไม่นำไปขึ้นเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องติดต่อกลับมายัง กบข.เพื่อขอให้ดำเนินการสั่งจ่ายเงินคืนใหม่ ทำให้สมาชิกได้รับเงินคืนล่าช้าออกไปอีก

นอกจากนี้ ธนาณัติยังมีข้อจำกัดอีกหนึ่งประการคือ สั่งจ่ายเงินคืนให้สมาชิกได้เพียงฉบับละ 50,000 บาท หากยอดเงินจ่ายคืนสมาชิกเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องออกธนาณัติหลายฉบับ ที่ผ่านมาสมาชิกหลายรายทำธนาณัติบางฉบับสูญหายก่อนนำไปขอขึ้นเงินต้องกลับมาขอให้ กบข.สั่งจ่ายเงินใหม่อีกครั้ง นอกจากนั้น กบข. ขอความร่วมมือสมาชิกรับรองสำเนาเอกสารประกอบการขอรับเงินคืนด้วยปากกาน้ำเงิน เพื่อความชัดเจนและรวดเร็วในการตรวจสอบเอกสารของสมาชิก

อย่างไรก็ดี สมาชิก กบข. ที่เกษียณและไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือต้องการบริหารเงินออมให้ต่อเนื่อง แนะนำให้สมาชิก “ออมต่อ" กับ กบข. ซึ่งสมาชิกสามารถเลือกได้ว่า จะออมต่อทั้งจำนวน หรือขอรับเงินเป็นรายงวด หรือนำเงินออกไปบางส่วนเพื่อใช้จ่าย และ กบข.จะนำเงินของสมาชิกไปลงทุน เพื่อหาดอกผลให้งอกเงย โดยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการออมต่อจะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับสมาชิกมากกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากจะถูกหักภาษี นอกจาก ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ กบข.บริหารให้ที่ 7% ต่อปียังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเฉลี่ยที่ 3.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ