ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองส่งออกข้าวไทยโค้งสุดท้ายยังต้องลุ้นการขายแบบ GtoG ช่วยดันยอด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 2, 2012 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2555 พบว่ามีปริมาณการส่งออก 4.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 46.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยที่ลดลง

ด้านสถานการณ์ด้านราคาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2555 พบว่าราคาส่งออกข้าวของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 (YoY) และมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2552-2554 ที่ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนหนึ่งอาจมาจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งในด้านหนึ่งมีผลในการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในตลาดโลก ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามพยายามลดราคาลงร้อยละ 11.6 เพื่อแข่งขันกับอินเดียที่กลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอีกครั้งหลังจากที่งดส่งออกไป 3 ปี ซึ่งขณะนี้อินเดียมีราคาข้าวส่งออกต่ำที่สุด ส่งผลให้ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) ได้คาดการณ์ว่าในปี 2555 ไทยต้องเผชิญความท้าทายในการส่งออกข้าว เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น อาจมีผลให้สัดส่วนการส่งออกข้าวของไทยในตลาดโลกปี 2555 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 18.2 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของโลกหรือคิดเป็น 6.5 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 38.9 จากปี 2554 ที่ระดับ 10.7 ล้านตัน) โดยการประเมินของ USDA ดังกล่าวคาดว่ายังไม่รวมการส่งออกข้าวของรัฐบาลไทยในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งหากไม่มีการส่งออกข้าวเพิ่มเติมจากในส่วนของรัฐบาลที่จะส่งมอบได้ทันภายในปีนี้ ก็อาจจะทำให้ไทยมีสัดส่วนการส่งออกข้าวต่ำลงมาเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม

"ในปี 2555 การส่งออกข้าวไทยลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับในปี 2554 ที่ปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น การผลักดันการส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2556 จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวของไทย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปริมาณการส่งออกข้าวในปี 2555 อาจมีปริมาณ 7.0-7.5 ล้านตัน ซึ่งกรอบคาดการณ์ดังกล่าวได้รวมผลของการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในสัญญาที่มีความชัดเจนเข้าไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลทยอยส่งมอบข้าวในสัญญาซื้อขายอื่นๆได้เพิ่มเติมก็อาจจะทำให้การส่งออกข้าวของไทยสูงกว่ากรอบคาดการณ์ข้างต้น

ในด้านราคา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาส่งออกข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2555 อาจทรงตัวในระดับสูงใกล้เคียงปัจจุบันที่ประมาณ 550-600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามต้นทุนรับซื้อข้าวเปลือกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ดังนั้น คาดว่าทั้งปี 2555 จะมีมูลค่าการส่งออกข้าวไทยประมาณ 3,500-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยผลักดันให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น คาดว่าจะต้องรอดูความคืบหน้าของการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยก่อนหน้านี้ มี 2 ประเทศที่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวจากไทยคือ โกตดิวัวร์ 2.4 แสนตัน และกินี 2.0 แสนตัน ขณะที่รัฐบาลระบุว่าจะมีการทำสัญญาซื้อขายข้าวจากไทยกับอีก 4 ประเทศ ปริมาณเกือบ 7.0 ล้านตัน ซึ่งหากรัฐเร่งทำสัญญาและส่งมอบภายในปีนี้ ก็คาดว่าอาจมีปริมาณส่งออกข้าวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

รวมทั้งการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาล ซึ่งผู้ส่งออกมีโอกาสที่จะประมูลข้าวเพื่อใช้ในการส่งมอบแก่คู่ค้า โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดประมูลข้าวทั้งสิ้น 7.5 แสนตัน แต่รัฐบาลมีการระบายข้าวด้วยวิธีประมูลไปเพียง 2.29 แสนตัน ทำให้รัฐบาลอาจยังคงมีสต็อกข้าวในปริมาณสูง ซึ่ง ณ เดือนสิงหาคม รัฐบาลมีปริมาณข้าวในสต็อกคาดว่ามากกว่า 10-12 ล้านตัน

นอกจากนี้ ความต้องการข้าวไทยจากต่างประเทศอาจยังต้องเผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลัก อาจส่งผลให้ผู้นำเข้าข้าวในต่างประเทศบางส่วน เช่น ตลาดแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของข้าวนึ่งไทย หันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามและอินเดียที่ราคาถูกกว่าไทยกว่าตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนความต้องการข้าวนึ่งไทยจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ซื้อรายสำคัญคือ ไนจีเรียซึ่งครองสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ได้เร่งรับซื้อข้าวนึ่งไปแล้วก่อนถึงกำหนดที่ทางการจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าว นอกจากนี้ ผู้ซื้อข้าวในแถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่จะชะลอคำสั่งซื้อข้าวจากไทย เนื่องจากยังคงมีสต็อกข้าวปริมาณมากจากที่ได้สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ในช่วงเทศกาลถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

สำหรับปัจจัยด้านอุปทานที่อาจส่งผลกระทบให้ปริมาณการส่งออกอาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์นั้น ยังต้องจับตาผลผลิตข้าวของอินเดีย เนื่องจากปริมาณสต็อกข้าวของอินเดียยังอยู่ในเกณฑ์สูง และภาวะมรสุมในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2555 ที่ใกล้เคียงกับปีปกติ ทำให้อินเดียยังคงมีปริมาณข้าวเพียงพอกับการส่งออก หลังจากการกันสต็อกสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารแล้ว อินเดียจึงอาจยังคงมีบทบาทสำคัญในการส่งออกข้าว นอกจากนี้ ในปี 2555 ปากีสถานขยายตลาดส่งออกข้าว โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวปากีสถานตั้งเป้าการส่งออกจำนวน 4.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 จากปีก่อน อาจส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทย

การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจกดดันความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดส่งออก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอินเดียและเวียดนามที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าไทย โดยเมื่อ 27 กันยายน 2555 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.95 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับระดับปิดสิ้นปี 2554 ทำให้ราคาส่งออกข้าวของไทยในรูปเงินดอลลาร์ฯ ปรับสูงขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกปี 2556 อาจยังเผชิญแรงฉุดรั้งจากปริมาณผลผลิตและสต็อกข้าวของประเทศคู่แข่งซึ่งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่มีปัจจัยลบจากสภาพอากาศผันผวนรุนแรง โดยหากส่วนต่างราคาข้าวไทยยังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ ก็อาจส่งผลกดดันต่อปริมาณการส่งออกข้าวของไทย แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามการส่งออกข้าวไทยในรูปแบบสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งอาจเข้ามาช่วยผลักดันยอดส่งออกได้อีกทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ