(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.ที่ 67.5 จาก 68.4 ในส.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2012 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.ย.55 อยู่ที่ 67.5 ลดลงจาก 68.4 ในเดือน ส.ค.55

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 68.9 ลดลงจาก 69.6 ในเดือน ส.ค.55 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 94.8 ลดลงจาก 95.8 ในเดือน ส.ค.55

ปัจจัยลบที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง ได้แก่ ความกังวลต่อปัญหาน้ำท่วม, กระทรวงการคลังปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ในปี 55 จาก 5.7% เหลือ 5.5%, ตัวเลขการส่งออกในเดือน ส.ค.55 ยังขยายตัวติดลบ, ความกังวลที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมือง หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างคนเสื้อแดง-เหลืองที่หน้ากองปราบปราม, สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น, ความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย, ความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า และความกังวลต่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ขณะที่มีปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3%, มาตรการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีต่อเนื่อง, ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ย.55

นายธนวรรธน์ คาดการณ์ว่า การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันจะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากประชาชนยังวิตกกังวลและรอดูสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความเสี่ยงทางการเมือง ความกังวลเรื่องน้ำท่วม และความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

หากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะกลับมาฟื้นขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4 ต้องขึ้นอยู่กับความเร่งรัดการให้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณและนโยบายการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้นจากแรงพยุงที่สำคัญเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก

ดังนั้นการเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมและการทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพตลอดจนบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในย่านธุรกิจอุตสาหกรรมและเขตเมือง จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการดูแลพนักงานและค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับรายได้ของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนักจะเป็นการสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างดีและส่งเสริมให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ที่ระดับ 5.0-5.5%

"เรามองว่าเศรษฐกิจโลกยังซึมตัวไปจนถึงครึ่งปีหน้าคาดว่าจะฟื้นได้ราวปลายปี ซึ่งหอการค้ายังคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 5-5.5% ส่วนปีหน้า 4.5-5% แต่รัฐบาลจะต้องบริหารกำลังซื้อในประเทศให้ได้" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในปีหน้ายังคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะซึมตัวต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 1.9-2.4% ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้เพียง 5-10% เท่านั้น โดยมีมูลค่าราว 6 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเชื่อว่าการส่งออกจะไม่ใช่กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะมี 4 ปัจจัยหลักที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ เม็ดเงินลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 3.5 แสนล้านบาท, งบประมาณรายจ่ายปี 56 ที่ขาดดุล 3 แสนล้านบาท, นโยบายรับจำนำข้าวที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่เกษตรกร และภาคการท่องเที่ยวที่จะมีรายได้เพิ่มอีก 5 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาทเนื่องจากได้รับอานิสงน์จากการปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ GDP ปีหน้าขยายตัวที่ระดับ 4.5-5% ทั้งนี้เป็นไปภายใต้สมมุติฐานที่รัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ