เครือซีพีเล็งทุ่ม 300 ลบ.ผุดโรงงานยางแท่งเริ่มผลิตปี 58 เน้นส่งออกจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2012 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิระศักดิ์ เสงี่ยมกิตติกุล ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีเตรียมสร้างโรงงานผลิตยางแท่งคุณภาพดี กำลังการผลิต 120 ตัน/วัน ที่ จ.กำแพงเพชร ใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 58 โดยมุ่งส่งออกไปประเทศจีนเป็นหลัก โรงงานนี้รองรับพื้นที่ปลูกยางพาราได้ 7 หมื่นไร่ ซึ่งบริษัทจะใช้โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างหาพื้นที่เพาะปลูกต้นยางพาราในจังหวัดเดียวกันเพิ่มเติม จากปัจจุบัน บริษัทมีพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรอยู่จำนวน 3 หมื่นไร่ และเป็นพื้นที่ของบริษัทเอง 2 พันไร่ ทั้งนี้ยอมรับว่ามีอุปสรรคในการหาพื้นที่นปลูกยางพารา เพราะส่วนหนึ่งประเทศไทยไม่ได้มีการจัดโซนนิ่งในการปลูกพื้นเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชได้ตามใจชอบ อย่างไรก็ดี หากบริษัทสามารถรวบรวมพื้นที่ปลูกยางพาราได้ถึง 7 หมื่นไร่ในบริเวณใกล้เคียงก็จะสร้างโรงงานผลิตยางแท่งเพิ่มขึ้นมารองรับ

"การหันมามุ่งพัฒนาพันธุ์และลงทุนยางพาราครบวงจร เนื่องจากเห็นว่า ธุรกิจยางเป็นอนาคตสดใส ซึ่งยังไม่มีสินค้าทดแทนไปผลิตยางล้อรถยนต์ได้ โดยเห็นว่าประเทศที่มีความต้องการใช้สูงได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย โดยประเมินว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในปีหน้าจะไม่ต่ำไปกว่าปีนี้ ที่ขณะนี้มีราคาประมาณ 80 บาท/กก. และราคาเริ่มขยับตัวขึ้นจากที่จีนเริ่มสต็อก"นายจิระศักดิ์ กล่าว

สำหรับสินค้าข้าวที่เครือซีพีได้พัฒนาพันธุ้ข้าวขาวใหม่ล่าสุด คือ ซีพี 111 ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง 1,000 กก.ไร่ เทียบโดยทั่วไปจะมีผลผลิตประมาณ 800 กก.ไร่ โดยบริษัทมีเป้าหมายพื้นที่ปลูกข้าวสำหรับพันธุ์ข้าวใหม่นี้ใน 25 จังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 1 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวรวม 25 ล้านไร่ โดยเพิ่งเริ่มเพาะปลูกในฤดูการผลิตนี้

"แม้ว่าไทยจะเสียแชมป์การส่งออกข้าว แต่ไทยสามารถส่งออกข้าวในราคาที่ดี ซึ่งข้าวส่วนใหญ่ที่ส่งออกเป็นข้าวขาว ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ โดยปริมาณการค้าข้าวของตลาดโลกอยู่ที่ 35 ล้านตัน/ปี"นายจิระศักดิ์ กล่าว

นายจิระศักดิ์ กล่าวอีกว่า เครือซีพีเลือกจะส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีกำไรและผลตอบแทนที่ดีที่สุดถ้าเทียบกับพืชเศรษฐกิจตัวอื่น จากตัวเลขทางการเกษตรกรจะมีกำไรจากการปลูกยางพารา 9,760 บาท/ไร่ ปาล์มน้ำมันมีกำไร 7,190 บาท/ไร่ แต่หากใช้พันธุ์ของเครือซีพีก็จะสามารถทำกำไรต่อปีได้ 21,275 บาท/ไร่สำหรับยางพารา และ ปาล์มน้ำมันได้ 8,318 บาท/ไร่

ส่วนสินค้าข้าวเป็นสินค้าที่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงราคามาก ฉะนั้น รัฐบาลต้องจริงจังแก้ปัญหา ต้องทำโรดแมพสินค้าข้าว เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มาใช้วิธีการเมืองแก้ไขในระยะสั้น แต่ต้องวางยุทธศาสตร์และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ