(เพิ่มเติม) มติ กพช.ให้ยกเลิกขายเบนซิน 91 ต้นปี 56,ให้ PTT นำเข้า LNG จากการ์ต้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2012 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56 เป็นต้นไป และให้กระทรวงพลังงานเตรียมแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันเบนซินพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ปรับส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ให้ถ่างจากแก๊สโซฮอล์ 91 มากขึ้นเพื่อจูงใจผู้ใช้ จากปัจจุบันมีส่วนต่างอยู่เพียง 1 บาท/ลิตร

"ที่ประชุม กพช.เห็นชอบทบทวนมติ กพช.เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 โดยเลื่อนกำหนดการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ออกไปอีก 3 เดือน จากวันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นวันที่ 1 มกราคม 2556 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำมันเบนซินพื้นฐาน(G-Base) จากเหตุการณ์โรงกลั่นบางจากไฟไหม้และโรงกลั่นบางรายหยุดซ่อมบำรุง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ก่อนหน้านี้ นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่า การยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ได้เลื่อนมาจากกำหนดจากเดิมที่จะยกเลิกในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการน้ำมัน G-Base ให้กระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 มากขึ้น เพราะเมื่อยกเลิกเบนซิน 91 แล้ว โรงกลั่นในประเทศจะผลิต G-Base ไม่เพียงพอต่อความต้องการจนอาจต้องมีการนำเข้า รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้เกิดการยอมรับ

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องแผนผลิตไฟฟ้า PDP 2010(2553-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 และความต้องการในภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง และโรงแยกก๊าซฯ โดยจัดหาจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการนำเข้า ทั้งนี้คาดว่า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติโดยรวมของประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 4,167 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 54 เป็น 5,331 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 59 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.1% ในช่วงปี 54-59 และระยะยาวคาดว่าปริมาณความต้องการใช้จะเพิ่มสูงถึง 6,999 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 73 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 2.1% ในช่วงปี 60-73

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบโครงการ LNG Receiving Terminal ระยะที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งทำให้หน่วยเปลี่ยนสภาพ LNG มีกำลังการผลิตรวมกับโครงการในระยะแรก 10 ล้านตัน/ปี โดยให้บริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี(PTTLNG) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวม 21,400 ล้านบาท

ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ บมจ.ปตท.(PTT) ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) กับบริษัท Qatar Liquefied Gas Company Limited ในปริมาณ 2 ล้านตัน/ปี มีอายุสัญญา 20 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 พร้อมเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดหา LNG ในระยะยาว(2555-2573)

ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ทบทวนแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544-2554(ปรับปรุงเพิ่มเติม) ครั้งที่ 2 โดยเพิ่มวงเงินลงทุนอีก 17,700 ล้านบาท หรือ 8.9% จากเดิมที่ ครม.อนุมัติไว้ 199,672 ล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนเพิ่มในส่วนของโครงการวางท่อส่งก๊าซฯ นครราชสีมา และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบส่งก๊าซฯ อีก 2 โครงการ

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล ไปร่วมทุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี๊ยบ 1 และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในสาธารณรัฐประชาะปไตยประชาชนลาว พร้อมอนุมัติวงเงินในการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 30% จำนวน 79 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,438 ล้านบาท

รวมทั้งเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 11 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ