นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนา เรื่องโอกาสของประเทศไทยจากการพัฒนาของประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และความท้าทายในการพัฒนาประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในงาน Thailand Investment Conference ว่า อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบไปด้วย ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน(ยูนาน)หรือ GMS เป็นกุญแจสำคัญของการเชื่อมโยงและพัฒนาของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเมียนมาร์เปิดรับการลงทุน ทำให้ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกันมาอย่างต่อเนื่อง และการที่เป็นประเทศที่มีความสงบ การมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาภูมิภาค และจากการประชุมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่กรุงเนปีดอ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อปลายปีก่อน มีนโยบายที่เห็นพ้องกันในการทำให้ประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงใน 2 ปีข้างหน้า มีทิศทางเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาในเชิงลึกและกว้าง โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงการค้า การลงทุน เข้าถึงสินค้าและบริการ และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)เพื่อเป็นรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค สิ่งสำคัญคือการมี การเชื่อมโยง(Conectivity)โดยเฉพาะช่องทางการสร้าง Supply chain, Logistics ซึ่งประเทศไทยที่เป็นศูนยฺ์กลางของอาเซียน มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริม Conectivity รัฐบาลจึงมีแผนการลงทุน วงเงิน 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการบริหารจัดการด้านต่างๆ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งระยะสั้นได้มีการดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำในระยะยาว การลงทุนด้านขนส่งที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - ลาว
"รัฐบาลได้มีการหารือกับนายกรัฐมนนตรี เต็งเส่ง ที่เห็นพ้องกันในการจัดทำโรดแม็ปในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย เชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือภาคตะวันออก เป็นการเปิดการขนส่งในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้น"นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว
ด้านตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ของไทย ได้มีการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมโยงประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และท้ายสุดจะเป็นการสร้างตลาดให้แข็งแรงในอาเซียน และสิ่งสำคัญก.ล.ต.มีส่วนช่วยการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การลงทุนทั้งท่าเรือ สนามบิน โทรคมนาคม รวมถึงการไหลเวียนของเงินทุนของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และภาคเอกชนจะถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยลดงบประมาณภาครัฐ ลดภาระหนี้สาธารณะ
"มั่นใจว่าภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จะมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว