รมว.พลังงานห่วงผลกระทบหลังประเทศเพื่อนบ้านเตรียมผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 5, 2012 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน แสดงความเป็นห่วงกรณีประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีแผนจะผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากอยู่ใกล้กันมาก โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ซึ่งล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ประเทศกัมพูชา สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้เปิดเผยว่ามีความสนใจที่จะใช้นิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าขึ้นที่เกาะกง เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศกัมพูชามีราคาแพง เพราะส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า และยังต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากนำนิวเคลียร์มาผลิตไฟฟ้าได้ ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง

อย่างไรก็ตาม ทางกัมพูชายังไม่ได้แจ้งว่าจะให้ใครเป็นผู้ลงทุน แต่น่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์

“การที่กัมพูชามีแนวคิดที่จะนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นจุดที่ทำให้ต้องกลับมามองประเทศไทย ว่าขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา และเวียดนาม กำลังจะทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาก็จะกระทบถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะอยู่ใกล้กันมาก" นายอารักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีของนิวเคลียร์กำลังพัฒนาจากเจนเนอเรชั่นที่ 3 จะเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก ทำให้การทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคตจะมีความปลอดภัยมากขึ้น

นายอารักษ์ กล่าวว่า ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว หรือ พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ได้มีการเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป แต่การศึกษายังคงมีต่อไป เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมตลอดเวลาหากมรโอกาสในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นอกจาก แนวคิดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว กัมพูชายังได้เปิดให้ภาคเอกชนไทย คือ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ร่วมกับ บริษัท เกาะกง ซีบอร์ด ทำการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ที่จะตั้งอยู่บริเวณเกาะกง แต่โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้คาดว่าจะมีการขายไฟฟ้ากลับเข้ามาประเทศไทยด้วย และจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการดำเนินการ เนื่องจากเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งต้องมีท่าเรือน้ำลึกรองรับการขนถ่ายถ่านหิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี และสายส่งไฟฟ้าจากเกาะกงมายังประเทศไทยก็จะยาวมาก จึงยังไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ และจะเกิดได้เมื่อไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ