ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (8-12 ต.ค.) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 30.45-30.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องติดตามพัฒนาการของวิกฤตหนี้ยุโรป ผลการประชุมยูโรกรุ๊ป การประมูลพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่ง การค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.(เบื้องต้น) รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟดหรือ Beige Book และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ค่าเงินบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน ท่ามกลางสัญญาณการไหลเข้าของเงินทุนที่ได้รับแรงกระตุ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ให้ภาพสดใสตลอดทั้งสัปดาห์ นอกจากนี้ แรงซื้อคืนเงินเอเชียในช่วงปลายสัปดาห์ ตามการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงและเงินยูโรหลังจากที่ไม่มีข่าวในเชิงลบจากยุโรปเพิ่มเติมเข้ามาในระหว่างสัปดาห์ ก็เป็นปัจจัยหนุนเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (5 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.53 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 30.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 ก.ย.)