ภาคเอกชนลดเป้าส่งออกอาหารปี 55 เหลือโต 1.6% จากผลศก.โลก-การผลิตหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 8, 2012 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 องค์กรธุรกิจ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ปรับเป้าส่งออกอาหารปี 55 เหลือ 9.8 แสนล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.6% ผลจากสภาพเศรษฐกิจโลกและภาคการผลิตหดตัวลง จึงปรับเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกอาหาร 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ไปเป็นเป้าหมายของปี 56 แทน โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีหน้าจะอยู่ที่ 1,030,000-1,080,000 ล้านบาท ขยายตัว 5-10% ขณะที่ภาคการผลิตคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2-4%

ช่วงไตรมาส 4/55(ต.ค.-ธ.ค.) ยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารมีโอกาสฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และฟื้นตัวได้จากไตรมาส 3/55 โดยคาดว่าจะขยายตัว 4% หลังจากการส่งออกอาหารไตรมาส 3/55 จะอยู่ที่ 253,125 ล้านบาท หดตัว 8%

สำหรับตัวเลขการส่งออกอาหารของไทยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ส.ค.55) มีมูลค่า 665,712 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.7% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวลดลง เช่น สหรัฐอเมริกา ลดลง 10.4%, สหภาพยุโรป ลดลง 5% แอฟริกา ลดลง 11.9% ตะวันออกกลาง ลดลง 9.8% สาเหตุอีกประการที่ทำให้การส่งออกอาหารลดลงเป็นผลจากการส่งออกข้าวลดลงเป็นหลัก รองลงมา คือ ผลไม้แปรรูป กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และผักสด/แปรรูป อย่างไรก็ดี ตลาดจีนและเกาหลีใต้ยังเป็นตลาดที่เติบโตได้ดี โดยตลาดจีนสามารถขยายตัวสูงถึง 28.8% และตลาดเกาหลีใต้ขยายตัว 24.9%

ทั้งนี้ ดัชนีเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารเดือนก.ย.55 พบว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้นโดยมีค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.4 ขณะที่ความเชื่อมั่นในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 54.2 ซึ่งยังอยู่ในระดับดีเช่นกัน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรสมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง เนื่องจากต้นทุนข้าวเพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องปรุงรสก็ประสบปัญหาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น และขาดแคลนแรงงาน ส่วนกลุ่มอาหารอื่นๆ มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น โดยยังเชื่อมั่นว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าทุกกลุ่มมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น ยกเว้น กลุ่มผัก-ผลไม้ที่ยังประสบภาวะชะลอตัวของการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ