(เพิ่มเติม) ภาคเอกชนลดเป้าส่งออกอาหารปี 55 เหลือโต 1.6% จากผลศก.โลก-การผลิตหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 8, 2012 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 องค์กรธุรกิจ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ปรับเป้าส่งออกอาหารปี 55 เหลือ 9.8 แสนล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.6% ผลจากสภาพเศรษฐกิจโลกและภาคการผลิตหดตัวลง จึงปรับเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกอาหาร 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ไปเป็นเป้าหมายของปี 56 แทน โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีหน้าจะอยู่ที่ 1,030,000-1,080,000 ล้านบาท ขยายตัว 5-10% ขณะที่ภาคการผลิตคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2-4%

ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/55(ต.ค.-ธ.ค.) ยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารมีโอกาสฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และฟื้นตัวได้จากไตรมาส 3/55 โดยคาดว่าจะขยายตัว 4% ด้วยมูลค่าการส่งออกประมาณ 240,520 ล้านบาท หรือส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อเดือน หลังจากการส่งออกอาหารไตรมาส 3/55 จะอยู่ที่ 253,125 ล้านบาท หดตัว 8%

สำหรับตัวเลขการส่งออกอาหารของไทยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ส.ค.55) มีมูลค่า 665,712 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.7% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวลดลง เช่น สหรัฐอเมริกา ลดลง 10.4%, สหภาพยุโรป ลดลง 5% แอฟริกา ลดลง 11.9% ตะวันออกกลาง ลดลง 9.8% สาเหตุอีกประการที่ทำให้การส่งออกอาหารลดลงเป็นผลจากการส่งออกข้าวลดลงเป็นหลัก รองลงมา คือ ผลไม้แปรรูป กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และผักสด/แปรรูป อย่างไรก็ดี ตลาดจีนและเกาหลีใต้ยังเป็นตลาดที่เติบโตได้ดี โดยตลาดจีนสามารถขยายตัวสูงถึง 28.8% และตลาดเกาหลีใต้ขยายตัว 24.9%

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ส.อ.ท. กล่าวถึงดัชนีเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารเดือนก.ย.55 พบว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้นโดยมีค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.4 ขณะที่ความเชื่อมั่นในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 54.2 ซึ่งยังอยู่ในระดับดีเช่นกัน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรสมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง เนื่องจากต้นทุนข้าวเพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องปรุงรสก็ประสบปัญหาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น และขาดแคลนแรงงาน ส่วนกลุ่มอาหารอื่นๆ มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น โดยยังเชื่อมั่นว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าทุกกลุ่มมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น ยกเว้น กลุ่มผัก-ผลไม้ที่ยังประสบภาวะชะลอตัวของการส่งออก

"ผมยังเชื่อว่าในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารจะยังสูงกว่าระดับ 50 ทั้ง 3 เดือน"นายอมร กล่าว

ส่วนนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีการควบคุมราคาอาหารสัตว์ที่ปลายทาง แต่ไม่มีการควบคุมราคาวัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็นอาหารสัตว์ ทำให้ปัจจุบัน ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวโพด และกากถั่วเหลือง และมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาให้ผู้ประกอบการมีการปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์

ขณะที่ทางด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ย.55 พบว่าประเทศที่ส่งออกข้าว 5 อันดับแรก คือ อินเดีย เวียดนาม ไทย ปากีสถาน และ สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

ในส่วนของประเทศไทยคาดว่าปีนี้เอกชนคงส่งออกข้าวได้ 6.5 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกประมาณ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 32 จากปีก่อนที่มีมูลค่า 6,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี สามารถส่งออกได้แล้ว 5 ล้านตัน

นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจัยบวกในปี 2556 ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ไม่ได้เลวร้าย, การทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการจะช่วยผ่อนคลายภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับมาในช่วงก่อนหน้า, ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจรวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากผลประกอบการที่ออกมาดี, ภาวะการจ้างงานอยู่ในระดับมั่นคงและมีอัตราการว่างงานต่ำ, รายได้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ, การเดินหน้ายกระดับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการผ่านโครงการรับจำนำน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดอาหารในประเทศให้เติบโตสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ