นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีมีผู้เตรียมฟ้องร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระงับการประมูลใบอนุญาต 3G ว่า ไม่น่าจะมีเหตุผลที่เพียงพอในการฟ้องร้องให้ระงับการประมูล 3G ออกไปอีก เพราะประเด็นต่างๆ ที่มีการหยิบยกขึ้นมา สามารถใช้เครื่องมือในการกำกับดูแลต่างๆ ของ กสทช.ที่มีอยู่ เช่น การกำกับดูแลค่าบริการ และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ การชะลอการประมูล 3G ออกไปจะทำให้ประเทศไทยมีบริการ 3G ใช้ล่าช้ากว่าประเทศอื่นต่อไปอีก
“โดยสรุป ผมเห็นว่าการประมูลควรจะเดินหน้าต่อไป แต่ผมขอถามว่า กสทช. จะรับผิดชอบอย่างไร หากผลการประมูลออกมาอย่างที่คาด คือทำให้รัฐเสียประโยชน์เป็นหมื่นล้านบาท"นายสมเกียรติ กล่าว
เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล 3G ของ กสทช. ครั้งนี้ เป็นการเอื้อให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย สามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเงื่อนไขของการประมูลแทบจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเลย เหมือนจัดคน 3 คนมาเล่นเก้าอี้ดนตรี 3 ตัว ทั้งนี้ หากผลการประมูลได้ราคาใกล้เคียงกับราคาประมูลตั้งต้น รัฐและประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ก็จะเสียหายประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดจากราคาประเมินของ กสทช. เอง ส่วนประชาชนในฐานะผู้บริโภคนั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากราคาค่าประมูลอยู่แล้ว เพราะค่าประมูลเป็นส่วนที่ไปหักมาจากกำไรของผู้ประกอบการ ต่อให้ผู้ประกอบการได้คลื่นความถี่ไปฟรี ก็ยังจะคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในอัตราที่ทำกำไรสูงสุดนั่นเอง
"เป็นเรื่องแปลกมากที่ผู้ประกอบการต่างพูดว่าพร้อมจะจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่สูงกว่า ที่กสทช. กำหนด เช่น มีรายหนึ่งบอกว่าพร้อมจะจ่าย 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท แต่ กสทช.กลับไม่ต้องการให้มีการแข่งขันในการประมูล ดูเหมือนจงใจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ"นายสมเกียรติ กล่าว