นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 56 กรมฯ มียุทธศาสตร์ที่จะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(SMEs)ให้สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ต่างประเทศได้ โดยเน้นระดับกลางและเล็กและให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้นำบุกเจาะตลาดเน้น 5 โครงการสำคัญ คือ 1.ครัวไทยสู่ครัวโลก ส่งเสริมและเผยแพร่อาหารและบริการอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและติดตลาดในระดับโลก 2.โอทอป 3.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ) โดยเน้นเว็บไซต์ Thaitrade.com ให้เป็นยอมรับในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
4.ผลักดันศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ โดยเน้นไปที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่มีอยู่ 63 แห่ง เริ่มต้นจากภูมิภาคอาเซียนก่อนไปยังภูมิภาคอื่น และ 5.ผลักดันการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าบริการ ซึ่งกรมฯมีเครื่องหมายไทยแลนด์ทรัสมาร์ค, ดีมาร์ค, พีเอ็มอวอร์ด เป็นต้น
"นอกเหนือจากการพัฒนาตนเองแล้ว ยังมีแนวทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs ในลักษณะเครือข่ายทางธุรกิจ และวางแผนสำรองเพื่อพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจนั้น จะนำมาซึ่งการลดต้นทุนและสร้างอำนาจต่อรองทั้งต่อคู่ค้าและลูกค้า อีกทั้งยังสร้างขยายเครือข่ายไปยังผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน" นางศรีรัตน์ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมฯ ปรับแผนการปฏิบัติงานภายหลังจากที่ได้เปลี่ยนชื่อใหม่จากกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนบทบาทและภารกิจที่เพิ่มขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่เน้นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั้ง 2 ทาง คือ การส่งเสริมการส่งออกและส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบ เทคโนโลยีและแรงงานฝีมือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างเสถียรภาพทางการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กรมฯ จะเชื่อมโยงภารกิจใหม่และบูรณาการงานภายในกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นทีมเดียวกัน โดยจะนำภารกิจของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กรมการค้าต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาผสานให้เข้นข้นขึ้น และแยกรายตลาด สินค้า บริการ เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงนำนวัตกรรมจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะทำแผนส่งเสริมการส่งออกภาคบริการที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของจีดีพีให้เป็นรูปธรรม เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ในปี 55 มีมูลค่าตลาดกว่าแสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 20%