ธพว.จัดสัมมนาเสริมความรู้ SMEs ไทยลงทุนปท.เพื่อนบ้าน เตรียมพร้อมสู่AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 11, 2012 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank)จัดสัมมนาโครงการ SMEs เปิดประตูสู่ AEC โดยเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเปิดตลาด AEC ในอนาคต โดยมีบริษัท SMEs กว่า 200 บริษัทเข้าร่วมโครงการ

นายศักดิ์สิน สินภิบาล ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจค้าปลีก ประเทศลาว กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ผลักดันให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) แต่การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยถือว่ายังน้อยกว่าประเทศอื่นอีก 9 ประเทศ และมองว่าผู้ประกอบการ SMEs ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่อง AEC เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ได้แนะให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านว่าลาวเป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีประเพณีและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ซึ่งหมายรวมถึงพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคสินค้าด้วย

"ประเทศลาวจะเป็นโรงเรียนอนุบาลของ AEC ได้ เพราะทุกอย่างคล้ายกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตร หรือธุรกิจอุตสาหกรรม สินค้าที่ประเทศลาวใช้จะคล้ายกับประเทศไทย แต่ต้องดูพฤติกรรมของประเทศเพื่อนบ้านด้วย"นายศักดิ์สิน กล่าว

พร้อมระบุว่า หากผู้ประกอบการจะเข้าไปขยายกิจการในประเทศกัมพูชาและประเทศพม่า ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาในเรื่องของกฎหมายการเงิน เช่น กฎหมายการส่งออก-นำเข้า และการเสียภาษีด้วย

ด้านนางดวงใจ จันทร รองประธานคณะอนุกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเพณี วัฒนธรรม การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละประเทศเพื่อนบ้านที่จะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่อยากเข้าถึงประเทศเวียดนามจะต้องศึกษาในเรื่องของกฎหมายเช่นเดียวกัน เนื่องจากเวียดนามยึดถือกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่โดยรวม เช่น การเดินทางสัญจรของเวียดนามที่ประชาชนมักนิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลัก

ขณะที่การเข้าถึงประเทศกัมพูชาจะต้องศึกษาเรื่องการเมืองการปกครอง เพราะอาจจะมีผลต่อการขยายธุรกิจ เนื่องจากมีการปกครองในระบอบเผด็จการมาก่อน รวมทั้งในด้านวัฒนธรรมก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมประกอบไปด้วย ส่วนประเทศลาวนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จะเคร่งครัดในเรื่องการทำบุญและการแต่งกายด้วยผ้าถุงเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี มองว่า กัมพูชายังไม่เหมาะที่ผู้ประกอบการ SMEs จะเข้าไปลงทุนขยายกิจการ เนื่องจากประชาชนกัมพูชามองว่าสินค้าของประเทศไทยนั้นยังไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร

"ตอนนี้สินค้าไทยยังไม่ถูกใจประเทศกัมพูชาเท่าที่ควร เพราะอาจจะมองว่ายังไม่ได้คุณภาพ อาจจะยังแยกแยะไม่ออกว่าสินค้าไหนของจริง สินค้าไหนของปลอม คนส่วนใหญ่จะมองที่โลโก้เมดอินไทยแลนด์เท่านั้น ทำให้สินค้าตัวอื่นที่ไม่ได้ติดป้ายจึงไม่ถูกซื้อ"นางดวงใจ กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ ผู้มีชัยวงศ์ ประธานชมรมไทย-พม่า กล่าวว่า ประเทศพม่ามีความเหมาะสมมากที่สุดที่ผู้ประกอบการจะเข้าไปขยายกิจการ เนื่องจากการเปิดด่านเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ส่งผลทำให้การค้าไทย-พม่าคล่องตัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยสินค้าไทยมีความได้เปรียบมากกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่น เนื่องจากพม่ามีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย

เมืองสำคัญที่จะเข้าไปเปิดตลาดสินค้าหรือจัดตั้งธุรกิจได้ดีนั้น เช่น รัฐฉาน พุกาม อูเบ็ง และทวาย พร้อมแนะนำผู้ประกอบการให้ศึกษาในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ภาษา, ระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ