นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว หรือกลุ่มกรีน ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.55
พร้อมกับขอให้ กสทช.ทบทวนการตั้งราคาประมูลขั้นต่ำให้สมเหตุสมผล โดยที่รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด และจากนั้นจึงค่อยดำเนินการจัดประมูลต่อไปให้เป็นไปตามประเพณีการประมูล และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ
ทั้งนี้ ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการและวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลก่อนที่การประมูลจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้
คำฟ้องของกลุ่มกรีน ระบุว่าการเปิดประมูลคลี่นความถี่ 3G บนคลื่น 2.1 กิกกะเฮิรตซ์ของกสทช.นั้นไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือยังไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และยังมีการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลในการกำหนดหลักเกณฑ์ของการประมูล ทำให้การประมูลไม่ก่อประโยชน์สูงสุด โดย กสทช.ยังไม่มีการเปิดข้อมูลผลการศึกษาและผลการวิจัยตามที่ได้ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ ซึ่งถือว่าขัดต่อมาตรา 59 ในพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2533
นอกจากนี้ ในการเผยแพร่ร่างประกาศฯ ของกสทช.ที่เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ 28 มิ.ย.55 และกำหนดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 28 ก.ค.55 นั้น เป็นระยะเวลาเพียง 30 วัน มิใช่อย่างน้อย 45 วันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของกสทช.ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ.2548 ซึ่งถือเป็นการตัดโอกาสการรับรู้ การโต้แย้งการเสนอความคิดเห็นของประชาชน
คำฟ้องยังระบุด้วยว่า การกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลไว้ที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิร์ตซ ถือเป็นราคาที่ไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะจากผลการวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กสทช.เองเป็นผู้ว่าจ้างให้วิจัยราคาประมูลที่เหมาะสมนั้นได้เสนอว่ามูลค่าคลื่นความถี่ขนาด 5 เมกะเฮิร์ตซ์มีราคาตลาดอยู่ที่ 6,440 ล้านบาท แต่กสทช.กลับเลือกกำหนดค่ามูลตั้งต้นเพียง 4,500 ล้านบาท ทำให้รายได้ที่จะได้รับขั้นต่ำตามราคาประมูลดังกล่าวอยู่ที่เพียง 40,500 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ยังมีวิถีทางอื่นที่จะทำให้รัฐได้รับรายได้มากขึ้นอันเป็นการรักษาผลประโยชน์สาธารณะของชาติ
"การประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช.จึงมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้ที่ประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่จะได้รับ และจะเห็นได้ว่ากฎเกณฑ์ของ กสทช.ไม่ได้มีส่วนปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ คือ รายได้ที่จะเข้าสู่รัฐ แต่กลับเป็นการส่งเสริมสภาพตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนมากกว่าการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"เอกสารคำฟ้องระบุ
พร้อมมองว่า กสทช.ยังขาดความชัดเจนในเรื่องของโครงข่ายโทรคมนาคมตามระบบสัญญาสัมปทาน BTO(Build-Transfer-Operate) ซึ่งทำให้โครงข่ายโทรคมนาคมที่บริษัทเอกชนดำเนินการอยู่ในปัจจุบันต้องตกเป็นของหน่วยงานผู้ให้สัมปทาน คือ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งการได้ใบอนุญาต 3G ของบริษัทเอกชนอาจทำให้รัฐสูญเสียสาธารณะสมบัติของแผ่นดินและผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์สินดังกล่าว เนื่องจากเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตอาจไม่ต้องลงทุนจัดสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมใหม่ทั้งหมด แต่ลงทุนเพียงการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อปรับสภาพโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิมให้เป็นโครงข่ายโทรคมนาคมแบบ 3G
"ด้วยเหตุนี้การประมูลซึ่งนำไปสู่การให้ใบอนุญาตแก่เอกชนที่ กสทช.กำลังดำเนินการให้เกิดขึ้น นอกจากจะมีประเด็นทำให้เกิดการสูญเสียรายได้แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการก่อให้เกิดความเสียหายอันมิอาจประเมินได้จากการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนในการนำโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติไปใช้หาผลประโยชน์ในทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้การดำเนินการให้มีการประมูลใบอนุญาต 3G ของกสทช.จึงขาดความชอบธรรมในเรื่องการรักษาไว้ซึ่งโครงข่ายโทรคมนาคมตามสัญญาสัมปทานอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน"เอกสารคำฟ้อง ระบุ
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายอิสระ กล่าวว่า จากกรณีที่นายสุริยะใส และกลุ่มกรีนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เห็นว่ามีจุดที่น่าสนใจคือ คำขอท้ายฟ้องซึ่งมิได้เป็นเพียงการขอให้ชะลอหรือระงับการประมูล 3G เท่านั้น แต่ไปไกลถึงขนาดขอให้ศาลสั่งเพิกถอน ประกาศ กสทช.ที่นำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการประมูลหลายข้อ รวมถึงขอให้ยกเลิกการประมูล 3G ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้ด้วย
หมายความว่า หากศาลปกรองมีคำสั่งตามคำขอก็อาจส่งผลให้ กสทช.ต้องดำเนินการจัดทำประกาศใหม่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม และอาจต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวแต่ละขั้นตอนล้วนใช้เวลา ดังนั้น การยื่นฟ้องในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการขอให้ศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบการประมูลแล้วชะลอการประมูลออกไป แต่เป็นการล้มประมูลโดยประสงค์ให้ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่เกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายนอกจากศาลปกครองต้องชัดเจนเรื่องสิทธิผู้ฟ้องคดีแล้ว ศาลฯ จะต้องพึงระลึกว่าการตีความกฎหมายนั้นไม่อาจก้าวล่วงดุลพินิจในเชิงนโยบายของรัฐสภาที่มอบให้แก่ กสทช. หากไม่มีหลักฐานการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การทุจริต การเลือกปฏิบัติ การข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ ศาลก็ไม่อาจเข้าไปก้าวก่ายเรื่อง ราคา หรือวิธีการแบ่งคลื่นประมูล เพราะนั่นคือดุลพินิจในเชิงนโยบายของรัฐสภาที่มอบให้แก่ กสทช.เป็นผู้กำหนด หากศาลฯ ก้าวล่วงได้ก็เท่ากับศาลนั้นใหญ่ยิ่งกว่ารัฐสภาและ กสทช.เสียเอง