คลังเอเซมหวังประเทศเกิดใหม่ประคองศก.โลก แนะยุโรปสร้างกลไกฟื้นตัวยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 15, 2012 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุม รมว.คลังเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 ได้หารือกันถึงภาวะเศรษฐกิจของ 2 ภูมิภาค โดยยุโรปคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ต้องดำเนินนโยบายให้ภาคการเงินเติบโตไปพร้อมกับการปรับปรุงนโยบายทางเศรษฐกิจและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียพบว่ายังขยายตัวดี

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรปและเอเชียที่มีความเชื่อมโยงกัน มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงิน การค้า และความไม่แน่นอนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่จะสามารถช่วยเศรษฐกิจโลกได้ จากการบริโภคภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ขณะที่ยุโรปจะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดความต้องการในประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนและผู้บริโภค มีการแยกการเชื่อมโยงของหนี้สาธารณะและหนี้ภาคสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นกลไกให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

ส่วนที่มีข้อเสนอให้เอเชียรวมกลุ่มทางการเงินเพื้อใช้เงินสกุลเดียวกันเหมือนประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปนั้น ประเทศในเอเชียไม่ได้มีการหารือกันอย่างจริงจริง แต่ที่ผ่านมา เอเชียมีบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 มาแล้ว

"ทุกประเทศในเอเชียเห็นตรงกันที่ต้องเพิ่มวินัยทางการเงินอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเหมือนภูมิภาคยุโรป ส่วนบทบาทของรัฐบาลทุกประเทศจะต้องปฎิรูปการบริหารเศรษฐกิจ เน้นการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในระยะกลางจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก ควรวางแผนการปฎิรูประบบการเงินใหม่ในภาคธนาคารให้เข้มแข็ง เช่น การใช้บาเซิล3 รวมถึงการกระตุ้นการพัฒนาตลาดทุน เพื่อลดการพึ่งพาเงินกู้จากภาคสถาบันการเงิน

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือใน 2 ประเด็น โดยเรื่องแรกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ มีการเติบโตสูง มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ยุโรปมั่นใจว่าการแก้ปัญหาได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างช้าๆ และใช้เวลานาน และเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องสร้างความสัมพันธ์กับเอเชียให้มากขึ้น

"ที่คุยกันว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้ช่องว่างทางการคลัง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคไม่ชะลอตัวอย่างที่จะเป็น"นายสมชัย กล่าว

ส่วนอีกเรื่องได้หารือถึงควาคืบหน้าของกลไกทางการเงินของแต่ละภูมิภาค โดยเอเชียได้มีการพูดถึงมาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่(CMIM)ซึ่งเป็นกลไกของประเทศเอเชียใช้เป็นแบบอย่างในการป้องกันการเกิดวิกฤตการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ยุโรปมีการพัฒนาเกี่ยวกับกองทุนรักษาเสถียรภาพ(ESM)เป็นกลไกถาวรและจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 56 ทั้งสองกองทุนมีความเหมือนและแตกต่างกัน ดังนั้นธนาคารโลกจึงจะรับเป็นเจ้าภาพในการศึกษาบทบาทและกลไกความร่วมมือทางการเงินให้เข้มแข็งในอนาคต

"ไม่ได้พูดถึงการรวมทั้งสองกองทุน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ความสำเร็จและความล้มเหลวของเอเชียที่จะเป็นแนวทางไม่ให้เกิดความล้มเหลวในยุโรป"นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ