ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อกนง.17 ต.ค.คงดอกเบี้ย มองยังไม่ใช่จังหวะผ่อนคลายเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 15, 2012 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) 17 ต.ค.อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ต่อไป ซึ่งเป็นทิศทางที่ค่อนข้างสอดรับกับการคาดการณ์ของตลาด

ทั้งนี้ เห็นได้จากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และ Forward Curve อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะประเภทระยะสั้น ค่อนข้างทรงตัวนับตั้งแต่การประชุมรอบก่อน(5 ก.ย.55 จนถึงวันที่ 11 ต.ค.55) ขณะที่ประเภทระยะกลาง-ยาว ปรับขึ้นตามทิศทางตลาดพันธบัตรส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะหลังการประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลัก อันทำให้นักลงทุนคลายวิตกต่อกรณีเลวร้ายของเศรษฐกิจและคาดการณ์ถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ เครื่องชี้การบริโภค-การลงทุนของภาคเอกชนที่ยังสามารถขยายตัวในเกณฑ์ค่อนข้างดี ซึ่งเป็นผลจากทั้งความต้องการซื้อสะสมและกิจกรรมการฟื้นฟูหลังเหตุอุทกภัย ตลอดจนมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะที่ผ่านมา

ขณะที่ มองไปข้างหน้าศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าแม้กิจกรรมการฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัยคงทยอยเบาบางลง แต่การเติบโตของการใช้จ่ายภาคเอกชน คาดว่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณและการเดินหน้าแผนการลงทุนของรัฐ ทั้งโครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำและในด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว รวมไปถึงมาตรการเพิ่มรายได้และบรรเทาค่าครองชีพที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ตลอดจนแผนการขยายการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อเตรียมรับมือกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)น่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถรักษาแรงส่งการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 56 ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะหากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยธนาคารกลางหลักทั่วโลกในระยะที่ผ่านมาเริ่มสะท้อนผลในทางบวกที่ชัดเจนมากขึ้นต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ การตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมทั้งจากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ธนาคารกลางยุโรป(ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงขาลงในการเกิดวิกฤตเลวร้ายลงส่วนหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ช่วงเวลานี้อาจจะยังไม่ใช่จังหวะที่ กนง.จำเป็นต้องเร่งปรับจุดยืนด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินในทันที ทั้งนี้ เหตุผลดังกล่าว ได้แก่ เศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มรักษาแรงส่งการขยายตัวได้จากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกน่าจะทยอยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.00 ในปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนการปรับตัวของค่าเงินบาทหลังการใช้มาตรการผ่อนคลายของธนาคารกลางหลัก ก็ยังไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ทางการไทยคงจะติดตามพัฒนาการความเสี่ยงจากต่างประเทศที่ยังมีอีกหลายเหตุการณ์สำคัญรออยู่ เนื่องจากความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีระดับสูง โดยยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการเมืองของประเทศแกนหลัก อาทิ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการเปลี่ยนตัวผู้นำจีนในเดือน พ.ย.ประเด็นข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะระหว่างจีนและญี่ปุ่น ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะประสบกับปัญหาด้านการคลัง(Fiscal Cliff)และพัฒนาการวิกฤตหนี้ยุโรป โดยเฉพาะท่าทีของสเปนในการขอรับความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ อันเป็นเงื่อนไขขั้นต้นที่จะทำให้ ECB สามารถเข้าซื้อพันธบัตรสเปนได้

ดังนั้น เชื่อว่าทางการไทยคงจะติดตามพัฒนาการความเสี่ยงจากต่างประเทศดังกล่าว รวมไปถึงความก้าวหน้าของการใช้จ่ายภาครัฐ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยคงพร้อมที่จะปรับจุดยืนด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหรือความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รวมไปถึงความก้าวหน้าของการใช้จ่ายภาครัฐ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยคงพร้อมที่จะปรับจุดยืนด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงินหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหรือความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากนั้น คงต้องจับตาแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากฝั่งอุปทาน (ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก รวมถึงนโยบายเพิ่มรายได้)

แต่ทั้งนี้ ประเมินว่า กนง.จะยังพอมีช่องว่างสำหรับการใช้นโยบายเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเป็นหลักตราบใดที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์หรือที่เกิดจากการใช้จ่ายภายในประเทศไม่ได้เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน

"ช่วงเวลานี้ อาจจะยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่ กนง.ต้องเร่งดำเนินการผ่อนคลายเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเทศแกนหลักของโลก ดังนั้น เชื่อว่าทางการไทยคงจะติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินการหากจำเป็นหรือเมื่อเกิดพัฒนาการเชิงลบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ