บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการเปิดบริการ 3G บนคลื่น 2.1 GH หากผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการ 3G ได้ภายในครึ่งแรกของปี 56 แล้ว บริการด้านข้อมูลจะยังคงเป็นตัวนำในการเติบโตของธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 56 โดยคิดเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 32.5 ของมูลค่าตลาดรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.8 ในปี 55 และมีอัตราเติบโตประมาณร้อยละ 35.6-44.0 โดยจะมีมูลค่า 66,000-70,000 ล้านบาท และผลักดันให้ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมในปี 56 มีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 11.5-14.2 โดยมีมูลค่าตลาดรวม 210,000-214,900 ล้านบาท เทียบกับ 188,300 ล้านบาทในปี 55 ขณะที่บริการด้านเสียงอาจจะเติบโตในกรอบจำกัดที่ประมาณร้อยละ 3.1-3.8 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 55
และ ประเมินภายใต้กรณีที่บริการ 3G สามารถเปิดให้บริการได้ภายในครึ่งแรกของปี 56 ว่า จะมีจำนวนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกจำหน่ายในปีหน้าราว 17.8 ล้านเครื่อง ขยายตัวราวร้อยละ 30 จากปี 55 ที่คาดว่าจะมีจำนวนเครื่องถูกจำหน่ายราว 13.7 ล้านเครื่อง และขยายตัวเพียงร้อยละ 14.2 โดยมีจำนวนเครื่องที่รองรับ 3G ที่จะถูกจำหน่ายในปี 56 คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 45.5 ของจำนวนเครื่องที่คาดว่าจะถูกจำหน่ายทั้งหมด เทียบกับราวร้อยละ 32.8 ที่คาดว่าจะถูกจำหน่ายในปี 55
หลังการประมูลใบอนุญาต 3G คาดว่า ผู้ประกอบการจะเร่งขยายโครงข่าย 3G โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในตลาดบริการสื่อสารข้อมูลไร้สายความเร็วสูง นอกจากนี้ เงื่อนไขการได้รับใบอนุญาต 3G ยังระบุไว้ว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการวางโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรในประเทศ ใน 2 ปี และร้อยละ 80 ใน 4 ปี ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว นับได้ว่าเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตต้องขยายโครงข่ายให้เป็นไปตามข้อกำหนด โดยในเบื้องต้น ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตได้เตรียมงบลงทุนสำหรับการวางโครงข่ายในช่วง 3 ปี รวมกันราว 125,000 ล้านบาท