(เพิ่มเติม) เชียร์ภาคธุรกิจไทยเร่งลงทุนพม่าช่วงได้เปรียบก่อนพ้น 3 ปีต่างชาติแห่เข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 15, 2012 19:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในการเสวนา"เมียนมาร์ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน: โอกาสและความท้าทาย"ว่า ขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกที่พุ่งเป้าสนใจไปที่ประเทศพม่า ในขณะที่พม่ากำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมการเกษตรเป็นอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับไทยเมื่อช่วง 30 ปีก่อน จึงทำให้ไทยมีความได้เปรียบในแง่อุตสาหกรรมทั้งขนาดกลางและใหญ่ที่จะเข้าไปทำธุรกิจร่วมกับพม่า

โดยเฉพาะในช่วงแรกอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญคือการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค รวมทั้งอุตสาหกรรมขนาดกลางที่เป็นที่ต้องการ คือ กลุ่มอาหารและสินเค้าเกษตร ส่วนอุตสาหกรรมใหญ่ ควรเน้นไปทางทรัพยกรธรรมชาติประเภทน้ำมันและก๊าซ

ด้านนายเคร็ก สเตฟเฟนเซน ผู้อำนวยการ สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB)กล่าวว่า ศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่านั้น หากการปฎิรูปยังคงดำเนินต่อไปตามแผนที่จะผลักดันอัตราการขยายทางเศรษฐกิจร้อยละ 7-8 ต่อปี พม่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง รายได้ประชาชาติต่อหัวจะสูงขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 73

ภาพรวมในปัจจุบัน โอกาส ความรุ่งเรืองของเอเชียที่ปัจจุบันนี้มีมาก และมียุทศาสตร์ที่ดี จุดเข็งคือ การปฎิรูปประเทศ และ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวล ในด้านความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมที่ยังไม่มีความแน่นอน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

ขณะที่นายพิศณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชฑูตไทยประจำประเทศเมียนมาร์ กล่าวว่า คนไทยที่จะเดินทางเข้าไปยังประเทศพม่าจะได้เห็นว่าประเทศพม่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนภายนอกคิดว่าเป็นประเทศที่มีแต่ความรุนแรง และมีทหารเต็มไปหมด เพราะปัจจุบันพม่าเป็นประเทศที่สงบ และมีโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุน

"หากเห็นว่าเป็นไปได้ ให้รีบตัดสินใจที่จะหาทางที่จะเข้าไปลงทุน เพราะประเทศไทยในตอนนี้ยังมีความได้เปรียบหลายๆด้านอยู่ และถ้าหากยังไม่มั่นใจก็ให้ทำธุรกิจที่ไม่ใหญ่มาก และควรเข้าไปก่อน 3 ปีที่จะถึงนี้ เพราะหากผ่าน 3 ปีไปแล้วจะมีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะทำให้ทุกคนทุกประเทศแก่เข้าไปลงทุนในพม่า และการที่คนไทยและพม่านั้นพึ่งพากันและกัน จะทำให้สนิทสนมกันมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะทำให้เราสามารถที่จะเข้าไปทำธุรกิจได้ง่าย"

นายฐานิศร์ ศิริโชติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารพม่ามีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม แต่กลุ่มหลักๆ มี 2 กลุ่ม คือ 1.ธนาคารของภาครัฐมีเพียง 2 แห่ง และไม่มีสาขาให้บริการ 2.ธนาคารเอกชนมี 19 แห่ง ข้อดีมีสาขามากกว่า แต่ข้อด้อยก็คือเพื่งเริ่มทำธุรกรรมต่างชาติ และปัญหาที่เป็นผลกระทบมากก็คือ ธนาคารในพม่าไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนได้ เช่น การกู้ยืมต่างๆ ยังทำได้ยาก จะทำได้เพียงการรับฝาก-ถอนเงินเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนามากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้มีการนำเงินสดนั้นไปใช้น้อยลง เพราะจะมีธุรกรรมการโอนเงินมารองรับแทนแต่คงต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีจึงจะเข้าที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ