นายกฯ ย้ำเวทีผู้นำACDเป็นแกนสำคัญช่วยพัฒนาความร่วมมือเอเชียให้เข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 16, 2012 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย(ACD) ร่วมกับผู้นำประเทศในเอเชียกว่า 32 ประเทศ โดยได้ย้ำบทบาทของไทยในการส่งเสริมความเป็นเอเชีย และเน้นการสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ความมั่นคงทางอาหาร และพลังงานในภูมิภาคเอเชีย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.3% และมูลค่าการค้าโลกคาดว่าจะลดต่ำลงจาก 5.8% เมื่อปีที่แล้วเหลือเพียง 3.2% ในปีนี้ ซึ่งประเทศในเอเชียย่อมได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยไม่ช้าก็เร็ว

ดังนั้นการประชุม ACD ในวันนี้จึงมีความสำคัญ ทันต่อสถานการณ์และเป็นการส่งข้อความว่าเอเชียได้ยืนยันที่จะขยายความร่วมมือและการค้าการลงทุนภายในเอเชียและเชื่อมไปยังส่วนอื่นของโลก แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยมี ACD เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศสมาชิกในเอเชียไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ ดังนี้

ประการแรก การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย การสร้างความเชื่อมโยงทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) หมายถึงการมีการขนส่งที่ดีขึ้น มีการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้การค้าและการลงทุนหมุนเวียนได้ดีขึ้น แต่จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎและระเบียบด้านการขนส่งข้ามพรมแดนที่คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้การสร้างความเชื่อมโยงทั้งจากโครงการเส้นทางรถไฟเชื่อมเอเชีย (Trans-Asian Railway) และโครงการเส้นทางรถไฟสายทรานไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) จะช่วยให้ทวีปเอเชียมีความเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น ความเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถสร้าง "เส้นทางสายไหม" ใหม่สำหรับเอเชีย ที่สามารถนำความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นให้กับทุกคนได้ และเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศสมาชิกต้องร่วมกันหาเงินทุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

นอกจากนี้ การสร้างความเชื่อมโยง ยังหมายถึงการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในทวีปเอเชีย การแบ่งปันความคิด ผ่านความร่วมมือและการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งจะไม่เพียงช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการแสดงเคารพต่อความหลากหลายแล้ว แต่ยังหมายถึงการสนับสนุนความร่วมมือในกรอบของ ACD ที่มีอยู่กว่า 20 สาขาความร่วมมือด้วย อาทิ การเงิน การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ประการที่สอง ด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นความร่วมมืออีกสาขาหนึ่งที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกใน ACD นั่นคือความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งยังเป็นจุดแข็งของทวีปเอเชียอีกด้วย โดยประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักของโลก ได้สร้างกลยุทธ์ใหม่ นั่นคือโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งไทยกำลังมองหาประเทศพันธมิตรทั้งในและนอก ACD เพื่อช่วยในด้านการผลิต การส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยรวมถึงอาหารฮาลาลให้ไปสู่ครัวโลกบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน

ขณะเดียวกัน ไทยได้เตรียมพร้อมสำหรับการหารือเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารภายใน ACD จากประสบการณ์ของไทยในอาเซียนและอาเซียนบวกสาม เกี่ยวกับคลังข้าวสำรองฉุกเฉิน (emergency rice reserves) นอกจากนี้ยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและโลจิสติกส์เกี่ยวกับการจัดการของเสียจากอาหาร (food waste)

ประการที่สาม ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นจุดแข็งของภูมิภาคเอเชียอีกด้าน คือ ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้การมีแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพจะช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยวจนถึงการขนส่ง ดังนั้นถ้าพลังงานมีเสถียรภาพก็หมายถึงการมีอาหารอย่างพอเพียงสำหรับทุกคน ซึ่งถือเป็นประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน การขยายกรอบความร่วมมือในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานนั้นอยู่ในความสนใจของทุกประเทศสมาชิกใน ACD นอกจากนี้ ในการหารือยังสามารถมุ่งเน้นไปที่การหาพลังงานเสริมทางเลือกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก ACD ในด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ด้านการเพิ่มพูนแหล่งเงินทุนภายในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมการทำงานร่วมกันในภูมิภาค เพื่อความเชื่อมโยงที่มากยิ่งขึ้นจะทำให้ ACD มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของภูมิภาคเอเชีย ขณะเดียวกันความหลากหลายในภูมิภาคจะยังช่วยสนับสนุนพัฒนาการในด้านต่างๆ ของโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ACD ควรมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอย่างยิ่งในการเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือของอดีตประธาน ACD, ประธาน ACD ปัจจุบัน, รวมถึงอนาคตประธาน ACD ซึ่งการหารือนี้จะช่วยทำให้การวางแผนและติดตามการดำเนินการต่างๆเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งไทยยังเสนอให้มีการจัดตั้งเลขาธิการ ACD เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งนายกรัฐมมนตรีเห็นว่าการประชุมในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ควรจัดขึ้นในการประชุมระดับรัฐมนตรีในปี 2013

พร้อมกันนี้ ไทยได้เสนอให้มีการจัด ACD Summits ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยมีความพร้อมในการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกทุกประเทศ และในการเป็นเจ้าภาพ ACD Summits ในปี 2015 ซึ่งเป็นปีแห่งการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้ ACD ประสบความสำเร็จสูงสุดในการดำเนินการ

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำต่อที่ประชุม ACD ขอให้มีการจัดประชุมระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นเวทีหลักของเอเชียในการเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งในระดับภูมิภาคเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ