ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อกนง.ไม่ลดอาร์/พีลงอีก คาดศก.โลกปีหน้าทรงตัว-ในปท.มีแรงหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 18, 2012 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากสัญญาณของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วานนี้ที่ระบุว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยยังไม่ใช่ขาลงนั้น สอดคล้องกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะทรงตัวได้ในช่วงปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจในประเทศก็น่าจะได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ

"หากสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ เป็นไปตามสมมติฐานการคาดการณ์ดังกล่าว ก็น่าจะทำให้ความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกนั้น มีน้อยลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ ผลการประชุมวันที่ 17 ต.ค.นี้ สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่มีมุมมองก่อนการประชุมว่า กนง.น่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ในการประชุมรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในระยะข้างหน้านั้น ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ผูกโยงเข้าด้วยกัน

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ประกอบด้วย 3 ตัวแปรสำคัญ คือ การแก้โจทย์ท้าทายการคลังของสหรัฐฯ หรือความเสี่ยง Fiscal Cliff ซึ่งจะมีผลในการกำหนดแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 56 สถานการณ์วิกฤตหนี้ยูโรโซนที่ยังน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีข้างหน้า และช่วงเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หากเป็นไปอย่างล่าช้าก็อาจทำให้ภาพของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจเอเชียมีความไม่แน่นอนตามไปด้วย

ขณะที่ ตัวแปรในประเทศ ก็คือ การประคองโมเมนตัมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ที่นำโดยการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การผลักดันการลงทุนภายใต้โครงการบริหารจัดการระบบน้ำ และการเร่งสร้างความชัดเจนให้กับโครงการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (วงเงินรวม 2.27 ล้านล้านบาท)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินบาทและเงินตราสกุลหลักก็น่าจะยังคงมีช่องห่างอยู่ อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนี้จะมีผลต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดสถานะสกุลเงินปลอดภัยของเงินดอลลาร์ฯ และการปรับโพสิชั่นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน

หากเศรษฐกิจโลกประคองทิศทางได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ตามที่คาด ก็อาจเป็นไปได้ว่า แรงหนุนต่อเงินดอลลาร์ฯ จะทยอยลดน้อยลง ซึ่งย่อมจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

ด้านประเด็นการส่งผ่านนโยบายการเงินนั้น ต้องยอมรับว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในตัวแปรที่มีผลต่อการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยประกาศของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่า การแข่งขันด้านราคาจะลดความรุนแรงลงท่ามกลางภาวะที่เงินฝากจะต้องแข่งขันกับช่องทางการออมอื่นๆ ในช่วงปลายปี อาทิ กองทุนรวมและประกันชีวิต เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนั้น การแข่งขันผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ น่าจะยังมีความต่อเนื่องจนถึงในช่วงปลายปี นอกเหนือจากนั้น ยังต้องติดตามแรงส่งของสินเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องก็อาจมีผลต่อสภาพคล่องและความจำเป็นในการบริหารจัดการเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ