นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ในระดับ 5.7% แม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่เคยคาดไว้ แต่สถานการณ์ในปีหน้ายังมีความไม่แน่นอน เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงผันผวน
การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวานนี้เป็นการรองรับสถานการณ์ในปี 56 ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก แต่เป็นการมองสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปที่จะเผชิญความไม่แน่นอนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลักอย่างสหรัฐและยุโรปที่ชัดเจนว่าปัญหายังดำเนินต่อไป ภาคการส่งออกของไทยก็จะได้รับผลกระทบ และผลกระทบในระยะต่อไปจะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องไปถึงการผลิตและการบริโภค
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การประเมินเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลา แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันอุปสงค์ในประเทศยังแข็งแกร่ง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเชื่อว่าจะขยายตัวในอัตรา 5.7% ส่วนปีหน้ายังมีความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้นหรือแย่ลง จากแรงขับเคลื่อนที่มีผลจากต่างประเทศ ซึ่งในต้นปีหน้าน่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น
"กนง.บางคนบอกว่าแนะให้ทำ insurance เพราะเศรษฐกิจโลกปีหน้ายังมีความไม่แน่นอน จึงควรซื้อ insurance และการลดดอกเบี้ยก็เป็นเหมือนการมีเบาะรองรับ...สถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่จำเป็น แต่จะค่อยๆเห็นภาพที่ชัดเจน...การลดดอกเบี้ยเป็นผลของการตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการตัดสินใจไม่ใช่คนๆเดียว แต่เป็นหมู่คณะ กรรมการมีความเป็นอิสระ ใช้ความคิด ดุลยพินิจ และใช้เสียงข้างมาก"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาวินัยการเงินการคลังได้ดี และยังมีช่องที่จะดำเนินนโยบายได้ทั้ง 4 ด้าน คือ นโยบายการเงินที่ค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับสมดุลตั้งแต่ปี 53 ส่วนนโยบายการคลังนั้นระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี ถือว่าต่ำ ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็งพอประมาณ ทำหน้าที่ส่งผลนโยบาย กระจายสินเชื่อให้ภาคธุรกิจในระดับสูง และนโยบายเศรษฐกิจไม่ขมุกขมัว เพราะการที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐยังไม่ชัดเจน ดังนั้น ไทยจึงต้องไม่ประมาท และกระสุนที่มีอยู่จะต้องใช้อย่างเฉลียวฉลาด
ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กนง.ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับสินเชื่อที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่สินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาเพิมเติม โดย ธปท.กำลังติดตามดูอยู่ แม้ว่าจะไม่อยู่ในระดับวิตกกังวลเป็นพิเศษ
ส่วนเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ย ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่รวมถึงศักยภาพการเติบโตของประเทศด้วย แต่ยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยอาจทำให้แรงจูงใจทำให้เงินทุนไหลเข้ามีน้อยลง
นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.75% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.9% ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาติดลบ ขณะที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อขณะนี้มีลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ปีหน้าที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศ จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามเพิ่มเติมว่าจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์มากน้อยแค่ไหน