นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แนะหามาตรการรับมือเงินร้อนไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น เช่น กำหนดระยะเวลาเงินไหลเข้าต้องอยู่ในไทยอย่างน้อย 6 เดือน หากนำกลับก่อนต้องเสียค่าธรรมเนียม ข้อเสนอนี้เป็นแนวทางเดียวกับ มาตรการกันสำรอง 30% เข้าข่ายมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Control) ที่เคยใช้ในปี พ.ศ. 2549
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหากใช้มาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและภาคการเงินพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่งก็ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ประคับประคองภาคการผลิตส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่องและลดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ที่จะเกิดขึ้นในตลาดสินทรัพย์ทางการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์
"มาตรการนี้อาจยังไม่จำเป็นต้องใช้ในขณะนี้ แต่ควรเริ่มมีการเตรียมการในการศึกษามาตรการต่างๆในการสกัดกั้นกระแสเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรไว้ก่อนและต้องประเมินผลกระทบข้างเคียงของนโยบายไว้ด้วย"นายอนุสรณ์ กล่าว
เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเงินโลกเวลานี้ คือ สภาพคล่องและเม็ดเงินจำนวนมากล้นทะลักในระบบการเงินโลก เป็น Flood of Liquidity ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ก็จะไหลไปมาเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ทำให้เกิดความผันผวนและภาวะไร้เสถียรภาพในระบบอัตราแลกเปลี่ยนและการปริวรรตเงินตรา ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงและค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาและดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ(Emerging Market) แข็งค่าขึ้น สภาวการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การสนับสนุนให้เกิดการเก็งกำไรจำนวนมากในตลาดการเงินและอาจเกิดการตอบโต้ด้วยการแข่งขันกันลดค่าเงินเพื่อปกป้องตลาดส่งออก
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้นำมาสู่การปกป้องค่าเงินของประเทศเอเชียเพื่อไม่ให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นแข็งค่ามากและรวดเร็วเกินไปอันส่งผลกระทบต่อการส่งออก ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเหล่านี้มีผลต่อภาคเศรษฐกิจการผลิตและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงน้อยมาก ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และการจ้างงานมากนัก เงินส่วนมากกลายสภาพเป็น เงินร้อน หรือ Hot Money เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่าธุรกรรมการลงทุนหรือภาคการผลิตที่แท้จริง
ปัญหาของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นต่อตลาดเงินตลาดทุน คือการเพิ่มความผันผวน (Volatility) ให้กับราคาและผลตอบแทนของสินทรัพย์ และสภาพคล่อง (Liquidity) ของตลาด ปัญหาที่น่าวิตกที่สุดคือการไหลกลับของเงินทุนอย่างรวดเร็ว ที่เรียกกันว่า Capital Flight ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดภาวการณ์ขาดสภาพคล่องอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจนำประเทศไปสู่วิกฤตการเงินดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ได้
นายอนุสรณ์ คาดว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ 7.7% ทั้งปี คาดว่าดุลการค้าเกินดุลเพียง 5 พันล้านดอลลาร์ จากการเร่งตัวของการนำเข้าเพื่อการลงทุน แนะนโยบายสินค้าเกษตรของรัฐบาลให้น้ำหนักต่อด้านการบริหารต้นทุน เข้าถึงปัจจัยการผลิตและเพิ่มผลผลิตมากกว่านโยบายด้านราคาผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายทุนระยะสั้นลดลงด้วยการสร้างแรงจูงใจสำหรับการลงทุนระยะยาวและมีมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไร ออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติมจากการปรับเพิ่มค่าแรง 300 บาทต้นปีหน้า
"คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/55 ขยายตัวประมาณ 4.4% (YOY) ไตรมาส 4/55 แตะระดับ 11% (YOY) จากฐานไตรมาส 4/54 (-8.9%) ที่เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง ภาคการบริโภค ภาคการลงทุนขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีมากช่วยชดเชยความอ่อนแออย่างมากของภาคส่งออก" นายอนุสรณ์ กล่าว
ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.3% จากการเติบโตในระดับต่ำของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจและประเทศกำลังพัฒนามีการเติบโตอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดโดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.3%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกไตรมาส 4/55 ให้จับตาผลของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษของธนาคารกลางสำคัญของโลก และ แรงต้านมาตรการรัดเข็มขัดในกลุ่มยูโรโซน ตลอดจนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศในกลุ่มยูโรโซน รวมทั้งการปะทุขึ้นของวิกฤติหนี้สินยูโรโซนรอบใหม่