น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"ว่า ผลการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย(ACD) ที่รัฐคูเวต ว่า ผลการประชุมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ได้เสนอให้ใช้ศักยภาพทุกประเทศให้เกิดประโยชน์ในเรื่องการค้าการลงทุน โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหายากจนจะพยายามลดความยากจน จากการใช้ระบบการสาธาณสุขมาช่วยในการส่งเสริมเยาวชน ส่วนการค้าการลงทุนซึ่งมีโจทย์เดียวกันในเรื่องทรัพยากรอาหาร การเกษตร มีการพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร และพลังงานซึ่งจะต้องหาความร่วมมือให้เกิดเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงความร่วมมือเริ่มจากทางกายภาพ
โดยข้อแรกที่ไทยเสนอต้องเริ่มจากระบบคมนาคมทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ ดังนั้นการเชื่อมโยงต้องมีหลายมิติ เริ่มจากในประเทศ สู่ภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้มีโอกาสด้านตลาดใหม่ๆ ข้อสอง การแลกเปลี่ยนบุลคลากรให้เกิดความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน และข้อสามความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านแหล่งอาหารของโลก ขณะเดียวกันไทยก็ต้องการความมั่นคงพลังงาน จึงนำไปสู่กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และการประชุมระดับรัฐมนตรีจะมีการหารือกันต่อไป อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าวถือเป็นกรอบกว้างๆ ที่ผู้นำทุกประเทศเห็นด้วย ในการร่วมมือเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งหน้าในปี 2015 เนื่องจากไทยมีความพร้อม รวมถึงการเสนอตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเริ่มต้นลงทุน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเบื้องต้นคูเวตจัดสรรให้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงด้านอาหารจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้การบริหารจะดำเนินโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คาดว่าจะเป็นรูปธรรมไม่นาน จึงถือเป็นโอกาสอันดี ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาเสริม
ส่วนการหารือระดับทวิภาคี ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีคูเวต ซึ่งไทยได้ขอบคุณในการสนับสนุนเรื่องโอไอซี ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย และให้ทุนแก่นักเรียนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไทยยืนยันแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และยังใช้โอกาสหารือเรื่องการค้า สินค้าเกษตร อัญมณี วัสดุก่อสร้าง อยากเห็นนักลงทุนไทยไปลงทุนก่อสร้างในคูเวต และเรื่องพลังงาน มีการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวคูเวตมาไทยโดยปรับวีซ่าจาก 30 วัน เป็น 90 วัน ในลักษณะทัวร์สุขภาพ การรักษาพยาบาลในไทย
นอกจากนี้ยังหารือกับผู้นำปากีสถาน ศรีลังกา ทาจิกิสถาน และประเทศในเอเชียใต้ เอเชียกลาง โดยพบว่า ทุกประเทศสนใจไทยมาก ซึ่งจะใช้โอกาสนี้ในการเปิดตลาดใหม่ เชิญชวนนักลงทุนเข้ามาในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทย และจากความผันผวนทางเศรษฐกิจจะทำให้ไทยมีโอกาสในการเรื่องการค้าการลงทุน
การประชุม ACD เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาโดยการริเริ่มของไทย มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมในคูเวตครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการประชุมระดับผู้นำ มีสมาชิก 32 ประเทศเข้าร่วมโดยไทยเป็นผู้ประสานงาน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการค้า เนื่องความผันผวนเศรษฐกิจโลก โดยผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมต่างต้องการให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และเห็นควรให้มีการประชุมระดับผู้นำอย่างต่อเนื่อง