ที่ประชุม กรอ.ภูมิภาคเสนอแผนพัมนากลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยกว่า 2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 21, 2012 20:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.ภูมิภาค) มีข้อเสนอเพื่อส่งเสริมการพัฒนากลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง และสุราษฎร์ธานี ประกอบไปด้วย 4 เรื่อง 14 ประเด็น วงเงินรวมประมาณ 21,386 ล้านบาท

โดยการส่งเสริมด้านการค้าการลงทุนจะเป็นการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพืชเศรษฐกิจ จ.ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบไปด้วย ยุทธศาสตร์พืชปาล์มน้ำมัน เสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทาง หรือองค์การมหาชน เพื่อวิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมันครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปี 56—60 และเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนมาตรการสิทธิพิเศษเพื่อจูงใจให้กับนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศในการลงทุนแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชปาล์มน้ำมันไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

สำหรับยุทธศาสตร์พืชยางพารา ประกอบด้วย โครงการให้รัฐบาลดำเนินการรักษาเสถียรภาพยางพารา โดยให้รัฐบาลเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศจาก 3 ประเทศ เป็น 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา กำหนดนโยบายการควบคุมการผลิตด้วยการโค่นต้นยางพารา และนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราธรรมชาติในประเทศสมาชิก เช่นการใช้ยางพาราธรรมชาติเพิ่มเติมของกรมทางหลวงชนบท และมีการส่งเสริมการใช้ยางในอุตสาหกรรมการบิน คือการผลักดันให้ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของล้อเครื่องบิน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการจูงใจให้ประเทศผู้ผลิตยางให้เก็บค่า CESS โดยนำเงินกองทุนฯ เพื่อใช้สำหรับดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ใช้ยางย้ายฐานการผลิตมายังประเทศผู้ผลิตยางพารา และส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นยางเก่าปลูกยางใหม่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัยการใช้ประโยชน์ยางโดยเน้นเรื่องอุตสาหกรรมปลายน้ำ และสร้างศูนย์วิจัยพัฒนายางที่ใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศไทย

การส่งเสริมด้านคมนาคมจะมีการเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ที่อำเภอทุ่งสง เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าระบบรางที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค โดยทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะร่วมกับทางกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการโครงการต่อไป โดยใช้ระบบรางของภาคใต้ (เชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่บรรจุไว้ในแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแนวระเบียงเศรษฐกิจโดยโครงการมีงบประมาณดำเนินการ 832 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 23 เดือน เริ่มก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2557—กันยายน 2559

การเร่งรัดการแก้ปัญหารับซื้อไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ให้เป็นไปตามแผนการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศปี 53 — 57 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยให้ลดขั้นตอนของภาครัฐในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเติม

การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ประกอบด้วย 1)การพัฒนาและขยายเส้นทางการจราจร 4 เส้นทาง วงเงิน 8,000 ล้านบาท คือ โครงการบูรณะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข417 (ถนนสายสนามบิน),โครงการพัฒนาและปรับปรุงถนนสายรองเลียบฝั่งอ่าวไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและความมั่นคง และโครงการการปรับปรุงและพัฒนาถนนเครือข่ายเชื่อมฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน โดยทั้ง 4 โครงการเสนอให้ปรับปรุงให้แล้วเสร็จในปี 2557 เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ และการค้าในพื้นที่ 2)โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างท่าเรือเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการขนส่งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 3 แห่ง ได้ แก่ท่าเรือน้ำลึกเขาประจำเหียง อ.สวี จ.ชุมพร,ท่าเรือเอนกประสงค์ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และการเร่งรัดการพัฒนาท่าเรือดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ตามการพัฒนาท่าเรือดอนสักให้เป็นพอร์ตเซ็นเตอร์

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำบูรณาการแม่น้ำตรัง ลุ่มน้ำตาปี และแม่น้ำชุมพรโดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อกักเก็บปริมาณน้ำหลากในช่วงฤดูฝนและส่งน้ำให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งของน้ำแต่ละสาขานั้นๆ รวมทั้ง สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตามแนวพระราชดำริ คลองผันน้ำคลองชุมพร วงเงิน 1,268 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำตรัง จ.นครศรีธรรมราชและ จ.ตรัง โดยให้จัดตั้งคณะทำงานในการจัดทำแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในระดับพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยให้ดำเนินการให้เสร็จภายในปี 57 โดยจะมอบให้คณะกรรมการบริการจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. รับไปดำเนินการต่อไป

ขณะเดียวกันยังมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดีและน้ำดิบของเกาะสมุย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยเสนอให้มีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะระบบสำรองน้ำดิบ ระบบส่งน้ำดิบ และระบบมาตรฐานน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของการประปาสาขาเกาะสมุยไม่ให้มีการขาดแคลนน้ำประปา และโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ระเบิดหินเก่าที่รกร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจ.พัทลุง ใช้งบประมาณรวม 30 ล้านบาท โดยให้ทางกระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการในการเร่งปรับปรุงต่อไป

ทั้งนี้ยังมีโครงการจัดตั้งสถาบันการแพทย์ชั้นสูงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำหรับภาคใต้ตอนบน โดยใช้พื้นที่ขนาด 300 ไร่ และขออนุมัติวงเงินในการก่อสร้างประมาณ 5,605 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการสนับสนุนการก่อตั้งในระยะแรกเริ่มจากคณะแพทยศาสตร์ และให้สามารถปรับใช้เป็นระบบโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์โรคเฉพาและการให้รักษาพยาบาลโรคยาก อีกทั้ง โครงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางโดยจัดตั้งสถาบันการแพทย์ชั้นสูง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วงเงิน 5,651 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภค และจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันต่อภาคเอกชนที่จะมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.ป้องการและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ....(ตามประกาศ FATF) เข้าสู่ที่ประชุมสภาได้ทันก่อนที่ FATF จะมีการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ