SCB EIC คาดส่งออกปี 56 ขยายตัว 6.5% จาก 4% ในปีนี้ หลังศก.โลกยังกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/55 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ 5.3% ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และยังน่าจะทำให้ภาคการผลิตของไทยเติบโตได้น้อยในไตรมาส 4

"การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของไทยยังเติบโตได้ดี โดยการบริโภคได้รับอานิสงส์จากนโยบายจากภาครัฐ เช่นนโยบายรถคันแรก และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนพุ่งสูงขึ้นมากในปีนี้จากการลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อชดเชยความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน”

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าในปีหน้าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะชะลอลงบ้างหลังจากที่มีการเติบโตไปมากแล้วในปีนี้ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งจะยังคงมีผลกระทบต่อภาคการผลิตเพื่อส่งออก” นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว

การส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 4% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยสินค้าที่มีการส่งออกหดตัวลงมากได้แก่ข้าว ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า

“การส่งออกข้าวหดตัวลงจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐซึ่งทำให้มีปริมาณข้าวถึงมือผู้ส่งออกน้อยมาก ส่วนการส่งออกยางพาราและแผงวงจรไฟฟ้าที่ลดลงเกิดจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มีความต้องการวัตถุดิบและส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์ลดลง"

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนที่เติบโตได้ต่อเนื่อง สำหรับปี 2556 SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.6% โดยมีการใช้จ่ายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มเติม การส่งออกของไทยในปีหน้าว่าอาจจะเติบโตได้ไม่มากนัก โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 6.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกน่าจะยังขยายตัวได้ในระดับต่ำในปีหน้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจยุโรปกำลังตกต่ำอย่างหนักและยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวในระยะอันใกล้ โดยการใช้จ่ายภายในของยูโรโซนหดตัวรุนแรงถึงสามไตรมาสติดต่อกัน แม้แต่เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มก็ยังมีอุปสงค์ที่หดตัวลงเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้กลไกต่างๆที่ยุโรปจัดตั้งขึ้นมา เช่นกองทุน ESM (European Stability Mechanism) หรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่ประสบปัญหาโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากการลดความเสี่ยงของภาคธนาคาร แต่ไม่ได้สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป

“สิ่งที่ยุโรปต้องทำคือการหาสมดุลของการรัดเข็มขัดทางการคลังเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยไปกว่านี้ และมีมาตรการต่างๆซึ่งส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ...อัตราการว่างงานในยุโรปสูงถึง 11% โดยเฉพาะในสเปนมีคนตกงานถึง 1 ใน 4 และกว่าครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนที่ตกงานเกินกว่า 1 ปี สิ่งนี้เป็นตัวบั่นทอนศักยภาพของแรงงานและลดโอกาสในการหางานใหม่ ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจยุโรปในระยะยาว"นางสุทธาภา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ