เลขาฯบีโอไอคนใหม่วางเป้า 5 ปีเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต-ปรับยุทธศาสตร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการทำงานของบีโอไอในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2556-2560) จะมีการปรับนโยบายการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน และสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ พลังงานทดแทน ท่องเที่ยวและสุขภาพ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติก

แนวทางดังกล่าวจะเดินควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนที่ทำให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และความสมดุลของภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับโลกหรือภูมิภาค ทั้งในส่วนที่พัฒนาจากความได้เปรียบโดยธรรมชาติ และการต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตหลักของโลก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปจากยางพารา อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการส่งเสริมเพื่อรองรับแนวโน้มธุรกิจใหม่ของโลก เช่น ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจรองรับสังคมผู้สูงอายุและสุขภาพ ทั้งนี้นโยบายต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพ

นอกจากนี้ บีโอไอจะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยจะตั้งหน่วยงานสำคัญในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และเน้นการตั้งสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายกิจการ และหาโอกาสลู่ทางการลงทุนใหม่ๆได้

นายอุดม กล่าวต่อว่า แนวนโยบายที่จะปรับปรุงไปจากเดิม ได้แก่ การปรับปรุงประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการลงทุนในปัจจุบัน, การลดสิทธิพื้นฐานและเพิ่มสิทธิประโยชน์หากมีการลงทุนเพิ่มในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม, การยกเลิกระบบให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง โดยหันไปมุ่งการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ อุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่มในแต่ละภาคและพื้นที่ชายแดน รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เน้นอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีและบริการที่ครบวงจร และยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และการกำหนดให้มีตัวชี้วัด และเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสามารถวัดผลและประสิทธิภาพความคุ้มค่าของการส่งเสริมการลงทุนได้

ทั้งนี้ แนวนโยบายเหล่านี้จะนำเข้าสู่มติที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก่อนที่จะมีการประกาศนโยบายออกมาประมาณต้นปี 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ