(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ก.ย.55 ส่งออกโต 0.2%นำเข้าหด 7.70%เกินดุล 1,152ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เผยภาวะการค้าต่างประเทศของไทยในเดือน ก.ย.55 การส่งออกมีมูลค่า 20,788.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,635.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.70% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,152.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ภาวะการค้าต่างประเทศในช่วง 9 เดือนของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.55) การส่งออกมีมูลค่ารวม 172,347.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 184,302.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน คิดเป็นการดุลการค้าขาดดุล 11,954.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออก ได้แก่ การขยายการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ(Emerging Market) ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจยุโรปและการลุกลามของปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของไทย

โดยการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย.55 ลดลงเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร และหมวดสินค้าอื่นๆ โดยหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวมลดลง 22.8% สินค้าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว(-34.9%) ยางพารา(-41.1%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-27.2%) ผักและผลไม้(-10.9%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(-11.3%) น้ำตาล(-28.2%) ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(+4.5%) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง)(+10.8%)

ส่วนการส่งออกหมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ภาพรวมเพิ่มขึ้น 8.4% สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์(+16.8%) วัสดุก่อสร้าง(+48.8%) อัญมณีและเครื่องประดับ(+161.1%) สิ่งพิมพ์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์(+6.6%) อาหารสัตว์เลี้ยง(+3%) ส่วนสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์(-14.5%) เครื่องใช้ไฟฟ้า(-6.1%) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์(-1.4%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(-7.2%) สิ่งทอ(-18.3%) อัญมณี(ไม่รวมทองคำ)(-2.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง(-13.1%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า(-27%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(-12.9%) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์(-13.4%) และการส่งออกหมวดสินค้าอื่นๆ ภาพรวมลดลง 6.1%

หากพิจารณารายตลาดพบว่า การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดศักยภาพระดับรองและตลาดอื่นๆ โดยตลาดหลักภาพรวมลดลง 5.7% โดยญี่ปุ่น(-3.1%) สหรัฐอเมริกา(-1%) สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ(-12.9%) ตาดศักยภาพสูงภาพรวมลดลง 8.8% โดยอาเซียน(9)(-11.7%) อินโดจีนและพม่า(-0.7%) จีน(-14.7%) เอเชียใต้(8)(-0.1%) เกาหลีใต้(-6.8%) ไต้หวัน(-11.7%) แต่ตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย(+10.2%) ฮ่องกง(+8.6%)

ตลาดศักยภาพระดับรองภาพรวมเพิ่มขึ้น 6.9 % โดยตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย(+48%) ทวีปแอฟริกา(+3.4%) ลาตินอเมริกา(+0.1%) รัสเซียและCIS(+28.1%) ตลาดที่ลดลงได้แก่ ตะวันออกกลาง(-10.5%) สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ(-35.4%) แคนาดา(-13.9%) และตลาดอื่นๆ ภาพรวมเพิ่มขึ้น 451.7% โดยสวิตเซอร์แลนด์ (+929.3%)

ขณะที่การนำเข้าในเดือน ก.ย.55 เป็นการลดลงในหมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป(-36.3%) (ประเภทเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์(-6.7%) เคมีภัณฑ์(-10.6%) แผงวงจรไฟฟ้า(-20.5%) ทองคำ(-87.8%)) หมวดที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดเชื้อเพลิง(+21.1%) (ประเภทน้ำมันดิบ (+29.7%) น้ำมันสำเร็จรูป (+7.5%)) หมวดทุน (+25.9%) (ประเภทเครื่องจักรกล (+27.9%) เครื่องจักรไฟฟ้า(+54.1%) หมวดอุปโภค/บริโภค(+1.6%) หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง(+34.1%) (ประเภทส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์(+38.8%) และรถยนต์นั่ง(+49.5%)

*คาดส่งออกทั้งปียังโตได้ 5% แม้ 9 เดือนยังติดลบ

รมช.พาณิชย์ คาดว่า การส่งออกในปี 55 น่าจะขยายตัวอยู่ในระดับ 5% เนื่องจากช่วงไตรมาส 3(ก.ค.-ก.ย.55) การส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 19,000-20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้คาดว่าช่วงเวลาที่เหลือของไตรมาสสุดท้ายจะมียอดส่งออกในระดับเดียวกัน โดยมีการส่งมอบสินค้ามากขึ้นและกระทรวงพาณิชย์ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ

แม้การส่งออกในปี 55 จะขยายตัวที่ระดับ 5% แต่หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในอดีตจะเป็นการขยายตัวที่มีแนวโน้มติดลบในรอบ 2-3 ปี โดยในปี 52 การส่งออกขยายตัวติดลบมากถึง 14.26%, ปี 53 การส่งออกขยายตัว 28.13% และปี 54 การส่งออกขยายตัว 13.96%

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เหลือคงไม่สามารถทำให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 15% แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่มีอัตราการขยายตัวติดลบ ขณะที่การส่งออกของไทยยังขยายตัวเป็นบวก โดยปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหภาพยุโรปยังคงเป็นปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 มีมูลค่ารวม 60,083 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.76% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 61,697 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.70% ซึ่งทำให้ขาดดุลการค้า 1,614 ล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ