SCB EIC ห่วงเบิกจ่ายงบฯ ปี 56 ล่าช้ากระทบเสถียรภาพศก.-มองกนง.ปรับลดดบ.ลงอีก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์กังวลการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในปี 56 จะเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะงบบริหารจัดการน้ำมูลค่า 350,000 ล้านบาทซึ่งล่าสุดมีการเบิกใช้เพียง 1,200 ล้านบาทเท่านั้น

"คาดว่าตลอดทั้งปี 56 การเบิกจ่ายใช้งบประมาณจะอยู่ที่ 16% ซึ่งถือว่าน้อยแล้ว แต่หากล่าช้าไปอีกก็จะไม่เป็นผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการแรงกระตุ้นจากภายในประเทศทดแทนการส่งออกที่จะชะลอตัวลงอย่างมากตั้งแต่ปี 55 ต่อเนื่องปี 56 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 4% และ 6.5% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรปและจีน ทำให้ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกไทยตั้งแต่ในไตรมาส 4 ขยายตัวได้ต่ำด้วย"

ทั้งนี้ การชะลอตัวของการส่งออกในเดือน ส.ค.55 ที่ปรับตัวลดลงถึง 7% สร้างความตกใจต่อธนาคารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังอาเซียนที่คิดเป็นสัดส่วน 24%ของการส่งออกทั้งหมดของไทยนั้น ลดลง 12.3% แม้ว่าเศรษฐกิจอาเซียนยังคงขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี แต่เริ่มเกิดความวิตกกังวลภาวะเศรษฐกิจโลก จึงลดการบริโภคและนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทยางพาราและแผงวงจรไฟฟ้า

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 55 ลงมาที่ 5.3% จากเดิม 5.6-5.8% เพราะยังได้รับแรงหนุนการเติบโตจากการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ โดยการบริโภคได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาล เช่น การลดภาษีลดยนต์คันแรกและการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และปัจจัยดังกล่าวยังจะเป็นขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 56 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.6% แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะชะลอลงบ้าง โดยคาดว่าการลงทุนเอกชนและรัฐบาลจะขยายตัวที่ 5%และ 16.1% ตามลำดับ หลังจากที่มีการเติบโตไปมากแล้วในปีนี้ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งจะยังคงมีผลกระทบต่อภาคการผลิตเพื่อส่งออก

“เราห่วงมากที่สุดคือการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลจะมีความล่าช้าไปอีก เพราะระดับคาดการณ์ที่ 16% ก็ถือว่าน้อยแล้ว และกังวลว่าหากจำเป็นต้องมีมาตรการมาส่งเสริมการบริโภคเพื่อช่วยปิดช่องว่างการลงทุนของรัฐ อยากให้เป็นมาตรการระยะสั้น เพราะหากเป็นระยะยาวในช่วงดอกเบี้ยต่ำก็จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจแย่ลง"นางสุทธาภา ระบุ

นอกจากนั้นยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% หรือจากระดับ 2.75% เป็น 2.50% ในการประชุมวันที่ 28 พ.ย.นี้ และปรับลดอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกปี 56 ที่ 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยเป็นแรงกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจอีกด้านและลดแรงกดดันจากเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยธนาคารมองว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ระหว่างทางยังคงมีความผันผวนมากตามภาวะเศรษฐกิจโลก

"อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำและนำไปสู่การปรับลดลงของอัตราดอกเบี้นตลาดการเงินยังสร้างความกังวลต่ออัตราการก่อหนี้ครัวเรือนและสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้เริ่มขยับสูงขึ้นเป็น 50%ของรายได้จากสัดส่วน 40% ในปี 53 ดังนั้นทางการต้องให้ความระมัดระวังอย่างมาก"นางสุทธาภา กล่าว

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระดับหนี้สาธารณะขยับตัวสูงขึ้นเกิน 60% ของจีดีพีในปี 58 หากรัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณการคลังในอัตรา 3% ของจีดีพีต่อเนื่อง ประกอบกับ รายได้น้อยกว่ารายจ่ายและมีการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 45%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ