อินโดนีเซีย หนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ที่จะเกิดขึ้นในปี 58 ถือเป็นประเทศที่น่าจับตามองด้วยความเป็นตลาดมูลค่ามหาศาลจากพื้นที่ขนาดใหญ่ จำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก คือประมาณ 241 ล้านคน รองจาก จีน, อินเดีย และสหรัฐ รวมทั้งมีแหล่งทรัพยากรสำคัญจำนวนมาก โดยอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ลำดับต้นๆ ของโลก รวมถึงเป็นแหล่งถ่านหินและน้ำมันดิบ ขณะที่สภาพภูมิประเทศยังเอื้อต่อการทำประมงและเกษตรกรรม เช่น ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา รวมถึงด้านท่องเที่ยวที่โลกรู้จักดี โดยเฉพาะหมู่เกาะบาหลี
นางวิลาสิณี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศอินโดนีเซียที่ทำให้นักลงทุนไม่อาจจะมองข้ามการเข้ามาลงทุนในประเทศนี้ แม้จะยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ จำนวนประชากรสูง, อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 6% ต่อปี อย่างต่อเนื่อง, ความมั่นคงทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ และช่องทางการตลาดสินค้าสำหรับกลุ่มมุสลิม
ทั้งนี้ จากการที่อินโดนีเซียมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเกือบครึ่งหนึ่งของอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน 600 ล้านคน จึงทำให้เป็นตลาดสำคัญที่หลายประเทศต่างต้องการเข้ามาขยายการลงทุน และขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการเปิดตลาดใหม่ในสินค้ากลุ่มมุสลิม ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นางวิลาสิณี กล่าวว่า สิ่งที่นักลงทุนต้องพึงตระหนักและยอมรับให้ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ภายในประเทศที่มีขึ้นอยู่บ่อยๆ อาจทำให้นักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดไม่สามารถทำการค้าการลงทุนได้อย่างราบรื่นนัก โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าอยู่เป็นประจำน่าจะมาจากผลของการทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าในกรอบอาเซียน-จีน ทำให้อินโดนีเซียขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้น
"อินโดนีเซียมีบทเรียนจากการเปิด FTA อาเซียน-จีน ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนทะลักเข้ามาโดยขาดการตั้งรับ แต่แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการลงทุนได้ตลอดเวลา ก็ยังมีจุดแข็งที่ไม่สามารถมองข้ามการเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียได้ คือ ประชากรจำนวนมาก, GDP โตต่อเนื่อง, มีความมั่นคงทางการเมือง และมีตลาดใหม่ๆ น่าสนใจคือตลาดสินค้ามุสลิม"นางวิลาสิณี กล่าว
ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เช่น การขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เช่น ถนน, สนามบิน, ไฟฟ้า และประปา, การขาดแคลนแรงงานที่มีประสิทธิภาพ, กฎ ระเบียบการค้าการลงทุนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนบ่อย, ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และสึนามิ
อย่างไรก็ดี ยังมองว่าอินโดนีเซียยังพร้อมที่จะเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ เพราะต้องการการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศของอินโดนีเซียเอง
ทั้งนี้ จากที่อินโดนีเซียมีนโยบายการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากเน้นการส่งออกในสัดส่วนเพียง 27% โดยเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศมากกว่า ต่างจากไทยที่เน้นพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นข้อดีที่ทำอินโดนีเซียแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมากนัก
สำหรับสินค้าและบริการสำคัญของไทยที่มีศักยภาพในการเข้ามาเปิดตลาดในอินโดนีเซีย ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์, รถจักรยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องปรับอากาศ, อาหาร-เครื่องดื่มฮาลาล, ผลไม้, สินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับมุสลิม, ธุรกิจร้านอาหาร และโรงพยาบาล เป็นต้น
ด้านนายชลิต เตชัสอนันต์ ประธานอาวุโส และผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ(BBL) สาขากรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในแต่ละปีอินโดนีเซียนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนราว 50,000 ล้านดอลลาร์ และส่งออกราว 42,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ขาดดุลการค้าราว 8,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนใหญ่แล้วอินโดนีเซียจะได้ดุลการค้ากับประเทศพม่า, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย แต่ขาดดุลการค้าให้กับประเทศสิงคโปร์, ไทย, บรูไน และเวียดนาม ซึ่งอินโดนีเซียต้องการลดตัวเลขขาดดุลการค้าให้น้อยลง ดังนั้นจึงพยายามปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า ดังนั้นการรวมกลุ่มเป็น AEC ในปี 2558 จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
"การเป็น AEC คงไม่ง่าย เพราะอินโดฯ จะทำทุกทางในการลดการขาดดุลการค้า อินโดฯ ขาดดุลการค้าให้กับสิงคโปร์, ไทย, บรูไน และเวียดนาม เพราะฉะนั้นไทยอยู่ในลำดับต้นๆ ที่เขาจะตีหัวให้เราลำบาก เราต้องพยายามทำในจุดนี้ ให้ผ่านอุปสรรคก่อนที่ประตู AEC จะเปิดในปี 2015" นายชลิต กล่าว
นายชลิต กล่าวว่า นักธุรกิจไทยที่เข้ามาลงทุนในประเทศอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางขึ้นไป ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กแทบจะไม่ค่อยพบเห็นนัก เนื่องจากไม่สามารถรับมือกับกฎระเบียบการค้าการลงทุนของอินโดนีเซียที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ ดังนั้น นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีตัวแทนที่ได้รับความเชื่อถือและไว้ใจได้
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจไทยมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้น แต่การที่ BBL จะเข้าไปช่วยสนับสนุนนักธุรกิจไทยให้เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียได้นั้นจะต้องผ่านการประเมินและวิเคราะห์แล้วว่าเป็นบริษัทที่ต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีสายป่านยาว มีการวิเคราะห์สินค้าและการทำตลาดในระดับหนึ่งแล้ว
"เราไม่อยากหลับตาผลักใครออกมาสู้กับประเทศในอาเซียนโดยที่ยังไม่แข็งแรง เพราะฉะนั้นจะต้องมีความมั่นคงในฐานะการเงินก่อน เพราะต้องมีการโปรโมท การโฆษณาธุรกิจอย่างมากมายมหาศาล ถ้าสายป่านไม่ยาวจะไปกินงบบริหารจัดการ และมีโอกาสเจ็บตัวมาก"นายชลิต กล่าว
ปัจจุบัน ธุรกิจไทยที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียแล้ว ได้แก่ บมจ.บ้านปู(BANPU) ประกอบธุรกิจเหมืองแร่, บริษัท PTT Green Energy จำกัด ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน, กลุ่มบริษัทสยามซีเมนต์(SCC) ประกอบธุรกิจจำหน่ายกระเบี้องเซรามิค และวัสดุก่อสร้าง, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสตรี(STA), บริษัท ไทยซัมมิท ออโต้ พาร์ท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท โอสถสภา จำกัด และธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น โดยเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของไทยในอินโดนีเซียปี 54 มีมูลค่าราว 568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจในสายตาของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงและการเมืองที่มั่นคง โดยประเทศอินโดนีเซียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วมากในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยแทบจะไม่มีการเติบโตเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 54 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของอินโดนีเซียอยู่ในระดับ 6.46% มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(FDI) เข้ามาในปี 54 คิดเป็นมูลค่า 18,900 ล้านดอลลาร์ฯ สูงกว่าไทยถึงเท่าตัว
นอกจากนี้ การที่ประเทศอินโดนีเซียมีความมั่นคงทางการเมือง เนื่องจากประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มาเกือบครบ 2 สมัย(10 ปี) เพราะฉะนั้น จุดนี้ก็ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าการเมืองของไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย โดยมองว่าบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียควรเป็นบริษัทที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากหากเป็นธุรกิจขนาด SMEs จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองน้อย ซึ่งจะทำให้เสียเปรียบบริษัทคู่แข่งอื่นได้
กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจหลักในการทำหน้าที่กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงมีภารกิจในการเตรียมความพร้อมให้แก่นักธุรกิจไทยในการเข้าเป็น AEC ในปี 58 รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจของภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซียได้อย่างคล่องตัว ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการได้อย่างคล่องตัว คือ การวางระบบด้านพิธีการศุลกากรระหว่าง 10 ประเทศในอาเซียนให้มีพิกัดอัตราภาษีสินค้าเป็นแบบเดียวกัน ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใน 35 หน่วยงานของแต่ละประเทศในอาเซียน และเริ่มทดสอบระบบ National Single Window ได้ราวปลายปี 56
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มเพื่อเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการไทยรายกลางและรายย่อย(SMEs)ในประเทศ เพื่อให้เตรียมพร้อมรองรับการที่ไทยจะเข้าสู่ AEC ในปี 58
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในรายอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ยางพารา และรถยนต์ โดยให้พิจารณาว่าจุดใดที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้า สร้างความน่าสนใจให้แก่ตัวสินค้าเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันของประเทศคู่แข่ง รวมถึงการพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าในการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนเข้ามาผลิตสินค้า
"ท่านนายกฯ จะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพของ SMEs ให้ดูรายสาขา เช่น อัญมณี, สิ่งทอ, ยางพารา และรถยนต์ จุดไหนที่จะช่วยสร้าง Value Added, จะผลิตเองหรือนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียน ซึ่งการจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันได้ จะต้องลงลึกไปที่โครงสร้าง โดยเฉพาะกับกลุ่ม SMEs" นายอารีพงศ์ กล่าว
หลังจากพูดถึงในแง่อุตสาหกรรมการค้าและการลงทุนไปแล้ว สิ่งที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้ในอินโดนีเซีย คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของบรรดานักท่องเที่ยวทั่วโลก คือ เกาะบาหลี ซึ่งเป็น 1 ในกว่าหมื่นเกาะของประเทศอินโดนีเซียที่น้อยคนนักจะไม่รู้จักและต้องการจะมาสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต และจากการที่บาหลีเป็นชุมชนที่ผูกพันพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนาเข้าไว้กับการทำเกษตรกรรม และศิลปกรรมต่างๆ จึงทำให้บาหลีเป็นเมืองที่มีประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก
นายสุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง อดีตผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า บาหลีเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา มีประชากรกว่า 3.8 ล้านคน รายได้ส่วนใหญ่ 30% จะมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในเกาะบาหลีเกือบ 7 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.7 ล้านคน
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางเข้ามาในบาหลีมากสุด 3 อันดับแรก คือ ออสเตรเลีย รองลงมาคือ จีน และญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายประมาณ 128 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/วัน ระยะเวลาการเข้าพักในเฉลี่ย 9 วัน โดยบาหลีมีบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนกว่า 200 บริษัท และมีไกด์ที่ผ่านการรับรองแล้วกว่า 5,000 คน
ขณะที่รัฐบาลของอินโดนีเซียได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกของแหล่งท่องเที่ยวในบาหลีให้มากขึ้น เช่น ถนน, ไฟฟ้า, ประปา, การสื่อสาร เป็นต้น
แต่ทั้งนี้บทบาทของภาคธุรกิจเอกชนในบาหลีเองกลับมีความเข้มแข็งมากกว่าภาครัฐ เนื่องจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบธุรกิจในบาหลีซึ่งได้เริ่มมีความตื่นตัวมาตั้งแต่การท่องเที่ยวในบาหลีเริ่มขยายตัว ดังนั้นจึงส่งผลให้ในปัจจุบันธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของบาหลีเติบโตได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน ขณะที่ในอนาคตบาหลีได้วางกลยุทธ์ว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวในระดับบน และพยายามประชาสัมพันธ์สร้างภาพพจน์การท่องเที่ยวบาหลีให้เป็นการท่องเที่ยวระดับ Hi-End มากขึ้น
นอกจากความได้เปรียบของอินโดนีเซียในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ, การเมืองมั่นคง อันจะเป็นปัจจัยแรกๆ ในการช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนแล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่าขีดความสามารถของไทยเองมีระดับการพัฒนาประเทศสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน เพราะเศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูงกว่า รวมถึงทักษะแรงงานฝีมือที่ดีกว่า ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าเมื่อถึงปี 2558 ที่บานประตู AEC เปิดรับ 10 ประเทศในอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว ประเทศใดจะมีความได้เปรียบและสามารถใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด