(เพิ่มเติม) นายกฯ เตรียมหารือภาคเอกชนชูอุตฯรถยนต์-เกษตรไทยแกร่งแข่งขันใน AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ปี 2558 ครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมวันนี้ได้หารือถึงการรวบรวมยุทธศาสตร์ใน 8 ด้านเพื่อเตรียมรองรับการก้าวสู่ AEC เป็นการบูรณาการการทำงานของทุกกระทรวง รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการย่อยในระดับกระทรวง และคณะทำงานระดับพื้นที่

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 8 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้าและการลงทุน ที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ การอำนวยความสะดวก การตลาด การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนา/ปรับปรุงมาตรฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองทางสังคม มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่มั่นคงปลอดภัย, ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิกติกส์ เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานมีความเชื่อมโยงและมีขีดความสามารถในการรองรับและมีกฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกทั้งการค้าและการลงทุน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มีมาตรฐานการศึกษาอาเซียน รวมทั้งทักษะฝีมือและภาษา โดยนายกรัฐมนตรีย้ำใน 3 ด้าน คือ ภาคการศึกษา ภาคแรงงานและผู้ประกอบการ และภาครัฐ พร้อมมอบหมายให้ กพ. เตรียมจัดทำแผนการพัฒนาดังกล่าว เพื่อมารายงานในที่ประชุมครั้งต่อไป, ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งสามารถปกป้องผลประโยชน์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าใจและตระหนักถึงการเป็นประชาคมอาเซียน, ยุทธศาสตร์ที่ 7 การเสริมสร้างความมั่นคง เน้นสร้างความร่วมมือ สร้างพันธมิตร การบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนทั้งทางบก ทางทะเล รวมถึงการสร้างปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น ฐานข้อมูล

และ ยุทธศาสตร์ที่ 8 การเพิ่มศักยภาพของเมืองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน เพื่อทำให้เมืองมีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงกับสมาชิกอาเซียน ทั้งในด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การลงทุนและการค้าชายแดน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ของเมืองสำคัญในด้านต่างๆ อาทิ เมืองหลวง เมืองเกษตร เมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว เมืองการค้าชายแดน ตลอดจน Green City เนื่องจากถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างจุดขาย (branding)

รายงานข่าวจากที่ประชุม ระบุว่า การประชุมวันนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากทุกกระทรวงตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อวิเคราะห์ความพร้อม และจัดลำดับความสำคัญในด้านต่างๆ เพื่อประเมินศักยภาพของประเทศเปรียบเทียบกับข้อกำหนดต่างๆของอาเซียน ได้แก่ กฎบัตรอาเซียน พันธกรณีอาเซียน (Blueprints) สามเสาหลักของอาเซียน และความเชื่อมโยง (connectivity) ในด้านต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ความเชื่อมโยงไม่เพียงแต่การเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ (hardware) เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงด้านอื่นๆ อาทิ พลังงาน เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร (software)

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนเองก็ต้องเตรียมความพร้อม โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะหาโอกาสนัดประชุมหารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนอีกครั้ง

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมของไทยที่มองว่ามีความโดดเด่นพร้อมจะแข่งขันใน AEC ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมภาคเกษตร รวมถึงต้องมมีการเตรียมความพร้อมด้านเคลื่อนย้ายแรงงานใน AEC และยืนยันว่ารัฐบาลยังส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางด้านอาหาร นอกจากนี้ จะเน้นส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ท่องเที่ยว และ ขนส่ง ซึ่งจะเชื่อมโยงหัวเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญเข้าด้วยกัน

ส่วนข้อเรียกร้องของภาคเอกชนในการลดค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท/วันนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพุดคุยในรายละเอียดเรื่องนี้ แต่มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปพิจารณาข้อมูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ