โพลนักศศ.ขานรับพ.ร.บ.กู้เงินลงทุน 2 ล้านลบ.แต่ห่วงความไม่พร้อมของโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 25, 2012 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง เรื่อง "พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จำเป็นหรือไม่" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.2 เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นมากที่จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาร้อยละ 35.8 เห็นว่าค่อนข้างมีความจำเป็น และมีเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเลย

เมื่อถามต่อว่างบลงทุนที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบันมีเพียงพอกับความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ พบว่าร้อยละ 46.3 เห็นว่ามีไม่เพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 35.8 เห็นว่ามีเพียงพอแล้ว แต่เมื่อถามว่าโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมเพียงใดกับการขอใช้เงินที่ออกโดย พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 79.1 เห็นว่าโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการยังไม่มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่เห็นว่าโครงการต่างๆ มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่

สำหรับความรู้สึกกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ พบว่านักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 68.6 บอกว่ากังวลมากถึงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 28.4 บอกว่ากังวลน้อยถึงน้อยที่สุด

และเมื่อทำการเปรียบเทียบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการโดยใช้เงินจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้กับความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.เพื่อนำเงินกู้มาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พบว่านักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 44.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าจึงไม่ควรออกกฏหมายฉบับนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 41.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าจึงควรออกกฏหมายฉบับนี้

ทั้งนี้เมื่อถามว่าโดยสรุปแล้วเห็นด้วยหรือไม่กับการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 47.8 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 23.9 ไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังได้เสนอแนะใน 3 อันดับแรก คือ 1.ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใส ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลงโทษผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงควรสร้างระบบกำกับการใช้เงินอย่างใกล้ชิดและตรวจสอบได้ 2.รัฐบาลควรมีการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการดำเนินโครงการต่างๆ มีการพิจารณาความคุ้มทุน มีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และ 3.รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) หรืออาจอยู่ในรูปการออกกองทุนในตลาดทุน เพราะจะได้ช่วยลดภาระหนี้ของภาครัฐ ช่วยให้การดำเนินโครงการมีความโปร่งใสขึ้น

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 67 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5-12 ต.ค.55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ